วันเสาร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เด็กเล็กกับหนังสือภาพ

เด็กเล็กกับหนังสือภาพ

เด็กเล็กเรียนรู้สิ่งต่างๆ จากหนังสือภาพที่เป็นสีได้มากกว่าหนังสือภาพขาวดำ

การอ่านหนังสือภาพ (picture book) ให้เด็กน้อยฟังและให้ดูภาพไปด้วย ไม่เพียงแต่ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการด้านการอ่านของเด็กเท่านั้น แต่ยังเป็นการสอนให้เด็กได้รู้จักโลกรอบตัวของพวกเขาด้วย งานวิจัยด้านจิตวิทยาพัฒนาการที่ตีพิมพ์ในวารสารของสมาคมจิตวิทยาของสหรัฐ ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2006 ชี้ให้เห็นว่าการที่เด็กเล็กได้สัมผัสกับภาพสีที่คล้ายของจริงช่วยในการเรียนรู้ของเด็กได้

ดร. Gabrielle Simcock นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยควีนแลนด์ และ ดร. Judy DeLoache นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย ได้ทดสอบว่า เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ปี สามารถเลียนแบบการเล่าเรื่องอย่างง่ายๆ จากภาพวาดที่คล้ายของจริงจากหนังสือภาพได้หรือไม่

การศึกษามี 2 ครั้ง โดยมีเด็กเข้าร่วมในโครงการทั้งหมด 132 ราย แบ่งเป็น 3 กลุ่มอายุ คือ 18 เดือน, 24 เดือน และ 30 เดือน เพื่อหาข้อสรุปว่า อายุมีผลต่อความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กที่จะเล่าเรื่องอย่างง่ายๆ จากการอ่านหนังสือภาพอย่างไร

ในการศึกษาครั้งที่ 1 ได้แบ่งเด็กออกเป็น 2 กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีทั้ง 3 กลุ่มอายุ ทั้งสองกลุ่มได้รับหนังสือภาพต่างชุดกัน แต่มีเรื่องราวและองค์ประกอบในภาพเหมือนกัน กลุ่มแรกได้หนังสือภาพที่เป็นภาพถ่ายสี 6 ภาพ และอีกกลุ่มหนึ่งได้หนังสือภาพที่เป็นภาพวาดสี วาดเลียนแบบภาพถ่ายทั้ง 6 ภาพ
หลังจากอ่านหนังสือให้เด็กฟังแล้ว ก็ขอให้เด็กๆ เลือกภาพใดภาพหนึ่งจากหนังสือขึ้นมาเล่า ผลการทดสอบพบว่า เด็กส่วนใหญ่สามารถพูดเล่าเรื่องเลียนแบบตามที่หนังสือบรรยายไว้ได้

ผู้วิจัยกล่าวว่า “การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า เด็กสามารถเรียนรู้ที่จะเล่าเรื่องเลียนแบบตามหนังสือที่มีขนาดสั้นๆ ได้ ซึ่งเป็นรูปแบบของการปฏิสัมพันธ์โดยทั่วไป และสามารถใช้หนังสือภาพเป็นแหล่งป้อนข้อมูลที่เกี่ยวกับโลกรอบๆ ตัวของเด็กๆ ได้”

ภาพที่ถ่ายจากวัตถุจริงกับภาพวาดคล้ายของจริงจากหนังสือเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลจูงใจเด็กให้สนใจได้มาก แต่เด็กอายุ18 เดือน จะมีปัญหาในการทำตามคำสั่งที่ผู้วิจัยต้องการ รวมทั้งไม่สามารถหาความแตกต่างระหว่างหนังสือภาพทั้งสองแบบได้ ดังนั้น ผู้วิจัยจึงเลือกกลุ่มใหม่ขึ้นมาอีกกลุ่มหนึ่ง โดยมีเฉพาะเด็กอายุ 24 เดือน และ 30 เดือน เพื่อทำการทดลองในครั้งที่ 2 ซึ่งเปลี่ยนมาศึกษาถึงการสนองตอบต่อหนังสือภาพขาวดำ (องค์ประกอบของภาพเหมือนการทดลองครั้งที่ 1 ทั้ง 6 ภาพ นอกจากเรื่องสี)

การทดสอบครั้งที่ 2 แสดงให้เห็นว่าเด็กเล่าเรื่องจากภาพขาวดำได้ค่อนข้างด้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับเด็กกลุ่มแรกที่เล่าเรื่องจากหนังสือที่เป็นภาพถ่ายและภาพสี

ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า ความสมบูรณ์ขององค์ประกอบของภาพที่เป็นสีมีส่วนช่วยในการพัฒนาการสำหรับเด็กอายุประมาณ 2 ปี ได้มากกว่าภาพขาวดำ “ภาพเสมือนจริงมีส่วนช่วยในการพัฒนาเด็กมากกว่าภาพที่มีลักษณะเป็นตัวแทนสัญลักษณ์” ผู้วิจัยกล่าวทิ้งท้าย

(จาก ScienceDaily : Nov. 6, 2006 แปลและเรียบเรียงโดย พิรุณ อนวัชศิริวงศ์ : ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมการอ่าน)


**********

1 ความคิดเห็น: