วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

การอ่านหนังสือของคนไทย

การอ่านหนังสือของคนไทย

“หนังสือ” มีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานทางความคิดและเสริมสร้างทักษะในการเรียนรู้ การอ่านหนังสือเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง หากคนในสังคมมีพฤติกรรมการอ่านก็จะก่อให้เกิดการเรียนรู้ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งที่เชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาประเทศ

หลายองค์กรได้ช่วยกันรณรงค์เพื่อผลักดันให้สังคมไทยตระหนักถึงความสำคัญของการอ่านหนังสือ แต่จากข้อมูลสถิติเรื่องการอ่านหนังสือของคนไทยที่สำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติครั้งล่าสุด (2551) พบว่า อัตราการอ่านหนังสือของคนไทยลดลง

ผลการสำรวจเรื่องการอ่านหนังสือของคนไทยโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติแต่ละครั้ง มักก่อกระแสวิพากษ์ในสังคม จากการรวบรวมข้อมูลเอกสารจากแหล่งต่างๆ พบว่า มีผู้กล่าวว่าคนไทยอ่านหนังสือ 7 บรรทัดต่อวันบ้าง 7 บรรทัดต่อปีบ้าง และบางแห่งระบุ 5 เล่มต่อปี (หรือ 2 เล่มต่อปี) ซึ่งส่วนหนึ่งจะอ้างอิงข้อมูลว่ามาจากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ

สำนักงานสถิติแห่งชาติได้สำรวจเรื่องการอ่านหนังสือของคนไทยที่เป็นการสำรวจเรื่องนี้โดยตรงมาแล้ว 3 ครั้ง คือในปี 2546, 2548 และ 2551 อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านั้นได้มีบทความรายงานเรื่อง “การอ่านหนังสือของคนไทย” ตีพิมพ์ใน “สารสถิติ” ฉบับเดือนมิถุนายน 2546 ระบุว่าคนไทยใช้เวลาในการอ่านหนังสือประมาณ 3 นาทีต่อวัน และเด็กวัย 10-14 ปี อ่านน้อยที่สุด คือ 1.28 นาทีต่อวัน

บทความดังกล่าวเป็นการนำข้อมูลมาจากปี 2544 ที่สำรวจเรื่อง “การใช้เวลาของประชากร” (สำรวจเฉพาะผู้ที่มีอายุ 10 ปีขึ้นไป) ซึ่งมีประเด็นหนึ่งที่สอบถามถึงการใช้เวลาในการอ่านหนังสือ การสำรวจนี้พบว่ามีผู้ที่อ่านหนังสือร้อยละ 4.4 ของประชากร และในจำนวนผู้ที่อ่านหนังสือนี้ อ่านหนังสือเฉลี่ย 67.49 นาทีต่อวัน แต่สำนักงานสถิติแห่งชาติได้นำเอาเวลาเฉลี่ยในการอ่านหนังสือของผู้ที่อ่านไปหาค่าเฉลี่ยจากฐานประชากรทั้งหมด (นำจำนวนผู้ที่ไม่อ่านมาหาค่าเฉลี่ยด้วย) จึงสรุปว่าคนไทยใช้เวลาในการอ่านหนังสือ 2.99 นาทีต่อวัน

การสำรวจเรื่องการอ่านหนังสือของคนไทยในปี 2546 สำนักงานสถิติแห่งชาติไม่ได้ระบุเรื่องเวลาในการอ่าน และเป็นการสำรวจประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปี ขึ้นไป ส่วนการสำรวจอีก 2 ครั้ง คือในปี 2548 และ 2551 ระบุเรื่องเวลาในการอ่านโดยคิดค่าเฉลี่ยเฉพาะกลุ่มผู้ที่อ่านหนังสือ ผลสำรวจในปี 2551 ระบุว่า ผู้ที่อ่านหนังสือ (ที่อายุ 6 ปี ขึ้นไป) ใช้เวลาในการอ่านหนังสือเฉลี่ย 39 นาทีต่อวัน

ส่วนผลสำรวจในปี 2548 เป็นการคิดเวลาเฉลี่ยจากฐานของกลุ่มผู้ที่อ่านหนังสือเช่นกัน แต่มีข้อมูลตัวเลขเวลาเฉลี่ยในการอ่านหนังสือของคนไทยที่ต่างกันอยู่ 2 ชุด ชุดแรกจากรายงานผลเบื้องต้นและเป็นข้อมูลที่สำนักงานสถิติแห่งชาติใช้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน (สิงหาคม 2548) ระบุว่าคนไทยใช้เวลาในการอ่านหนังสือโดยเฉลี่ยแต่ละวันประมาณ 1 ชั่วโมง 59 นาที ส่วนอีกชุดหนึ่งซึ่งเป็นรายงานฉบับสมบูรณ์ที่ออกตามมาภายหลัง ระบุว่า คนไทยใช้เวลาในการอ่านหนังสือโดยเฉลี่ยแต่ละวันประมาณ 51 นาที ซึ่งเป็นเวลาที่ต่างกันมากกว่า 1 ชั่วโมง

ไม่ปรากฏว่ามีข้อมูลชี้แจงเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงตัวเลขจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ผู้ที่นำข้อมูลไปใช้จะอ้างอิงที่ตัวเลข 1 ชั่วโมง 59 นาที ทั้งสิ้น การเสนอชื่อกรุงเทพมหานครเป็น “เมืองหนังสือโลก” (World Book Capital City) ที่เสนอต่อองค์การยูเนสโกก็อ้างอิงข้อมูลจากตัวเลขดังกล่าว (1 ชั่วโมง 59 นาที)

จากการศึกษาข้อมูลจากเอกสารที่ออกโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการอ่านหนังสือของคนไทย ไม่พบว่ามีการระบุว่าคนไทยอ่านหนังสือกี่เล่มหรือกี่บรรทัด ระบุเพียงเรื่องเวลาในการอ่านเท่านั้น จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสถิติแห่งชาติก็ได้รับการยืนยันว่าสำนักงานสถิติแห่งชาติไม่ได้สำรวจว่าคนไทยอ่านหนังสือกันกี่เล่มหรือกี่บรรทัด

การระบุว่าคนไทยอ่านหนังสือกันกี่บรรทัดต่อวันหรือกี่เล่มต่อปี อาจเป็นผลมาจากการตีความเองของผู้นำข้อมูลไปใช้หรือนำไปเผยแพร่ต่อ หรืออาจมาจากการสำรวจของหน่วยงานอื่นที่มิใช่สำนักงานสถิติแห่งชาติ จากการรวบรวมข้อมูลพบว่าหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการมีการสำรวจพฤติกรรมการอ่านของนักเรียนซึ่งระบุหน่วยชี้วัดเป็นจำนวนหน้าและจำนวนเล่ม ประกอบกับการที่ปลัดกระทรวงศึกษาธิการระบุว่า “จะรณรงค์ให้คนไทยอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 12 บรรทัดให้ได้ภายในปี 2550” (งานมหกรรมนักอ่าน 13-17 มิถุนายน 2550) จึงเชื่อว่ากระทรวงศึกษาธิการเองน่าจะมีข้อมูลการสำรวจเรื่องการอ่านอีกชุดหนึ่ง และผู้ที่นำข้อมูลไปใช้อาจกล่าวถึงข้อมูลจากทั้งสองแหล่งในเวลาเดียวกัน จึงรวบความว่าเป็นผลจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ

การระบุว่าคนไทยอ่านหนังสือกี่เล่มต่อปี มีการระบุอยู่ 2 ตัวเลข คือ 5 เล่มต่อปี และ 2 เล่มต่อปี การระบุที่จำนวน 5 เล่มต่อปี น่าจะมาจากเหตุผลที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ซึ่งยืนยันได้ว่ามิใช่เป็นข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ จากคำกล่าวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในการเปิดงานมหกรรมนวัตกรรมการอ่าน (14-16 สิงหาคม 2552) ระบุว่า “การสำรวจเรื่องนิสัยรักการอ่านของคนไทยในปี 2551 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า คนไทยอายุ 6 ปีขึ้นไปอ่านหนังสือเฉลี่ยที่ 39 นาทีต่อวัน ขณะที่ผลสำรวจจากหน่วยงานอื่นๆ พบว่า คนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยคนละ 5 เล่มต่อปีเท่านั้น” อย่างไรก็ตาม ก็มิได้มีการระบุว่าเป็นการศึกษาของหน่วยงานใด

ส่วนตัวเลขการอ่านหนังสือจำนวน 2 เล่มต่อปี เป็นผลมาจากการวิเคราะห์การใช้จ่ายเงินในการซื้อหนังสือของคนไทย โดยสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ซึ่งในปีล่าสุด (4 มีนาคม 2552) ระบุว่า “คาดว่าคนไทยใช้เวลาว่างอ่านหนังสือปีละ 2 เล่ม และใช้เงินซื้อหนังสือต่อคนต่อปีประมาณ 300 บาท” ซึ่งระบุที่จำนวนตัวเลข 2 เล่มติดต่อกันมา 3 ปีแล้ว

ฐานในการคำนวณว่าคนไทยซื้อหนังสือ 2 เล่มต่อปี มาจากการใช้มูลค่ายอดจำหน่ายหนังสือในปีนั้น (18,900 ล้านบาทในปี 2551) มาหาค่าเฉลี่ยเป็นจำนวนเล่มโดยใช้ราคาเฉลี่ยหนังสือออกใหม่ที่เข้าสู่ระบบจัดจำหน่ายของร้านซีเอ็ดฯ (166.20 บาทต่อปก) จะได้จำนวนเล่มของหนังสือที่ขายได้ต่อปี (113,718,412 เล่ม) จากนั้นนำจำนวนเล่มที่ขายได้ทั้งหมดมาหาค่าเฉลี่ยต่อประชากร 1 คน (ปี 2551 มีประชากร 63,389,730 คน) จะได้จำนวนหนังสือที่ซื้อต่อปีต่อคน (1.79 เล่มต่อปีต่อคน)
นำจำนวนเล่มที่ซื้อต่อคนต่อปี (1.79 เล่ม) ไปคำนวณเป็นจำนวนเงินโดยย้อนกลับไปที่ราคาเฉลี่ยต่อเล่ม (166.20 บาท) ก็จะได้อัตราการใช้จ่ายในการซื้อหนังสือของคนไทยต่อคนต่อปี (297.50 บาท) เมื่อสรุปผลก็จะได้อัตราการใช้จ่ายเงินในการซื้อหนังสือประมาณ 300 บาทต่อคนต่อปี หรือจำนวน 2 เล่มต่อคนต่อปี


โดย พิรุณ อนวัชศิริวงศ์ : ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมการอ่าน (บางส่วนจากเอกสารประกอบการนำเสนอ “นโยบายส่งเสริมการอ่านภาคประชาชนระดับท้องถิ่น : หนังสือสามัญประจำบ้าน” งานมหกรรมสื่อสร้างสรรค์เพื่อเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 1 “พลังภาคี หนุนกองทุนสื่อดี เพิ่มพื้นที่สื่อสร้างสรรค์” 14 พฤศจิกายน 2552)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น