วันเสาร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

แพทย์วิจัยพบ “การอ่าน” คลายเครียดได้ดีที่สุด


อ่านหนังสือเพียง นาที สามารถลดระดับความเครียดลงได้ถึงร้อยละ 68 นักวิจัยพบว่า การอ่านหนังสืออยู่เงียบๆ คนเดียวทำให้อัตราการเต้นของหัวใจช้าลงและบรรเทาความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ การอ่านยังมีประสิทธิผลมากกว่ากิจกรรม ผ่อนคลาย” แบบอื่นๆ ที่นิยมกัน


การอ่านเป็นวิธีช่วยผ่อนคลายความเครียดได้ดีที่สุด และอ่านหนังสือเพียง 6 นาที ก็สามารถลดระดับความเครียดได้มากกว่า 2 ใน 3”
คำบอกกล่าวและผลการวิจัยนี้ได้เผยแพร่ในวงกว้าง ในหนังสือพิมพ์เทเลกราฟ ฉบับวันที่ 30 มีนาคม 2009 อ้างถึงงานวิจัยของมหาวิทยาลัยซัสเซกซ์ (University of Sussex) ประเทศอังกฤษ
การวิจัยดังกล่าวนี้ พบว่า การอ่านหนังสือช่วยให้ประสาทที่เหนื่อยล้าสงบลงได้ ดีกว่าและเร็วกว่าการผ่อนคลายด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การฟังดนตรี การเดินเล่น หรือการนั่งจิบชา
นักจิตวิทยา-นักประสาทวิทยา อธิบายว่า นี่เป็นเพราะ จิต” (mind) ของมนุษย์ต้องมุ่งสมาธิเพื่อการอ่าน และการเบนอารมณ์ไปกับโลกของตัวอักษร ช่วยลดความตึงเครียดของกล้ามเนื้อและหัวใจได้
การวิจัยนี้ทดลองกับกลุ่มอาสาสมัคร โดยมีสถาบันมายด์แล็บอินเตอร์เนชั่นแนล แห่งมหาวิทยาลัยซัสเซกซ์ เป็นที่ปรึกษา คัดเลือกกลุ่มอาสาสมัครที่มีระดับความเครียดและอัตราการเต้นของหัวใจที่อยู่ในระดับสูงอยู่ตลอดเวลามาเป็นกลุ่มทดลอง โดยให้กลุ่มอาสาสมัครทดสอบด้วยวิธีการต่างๆ ได้แก่ อ่านหนังสือ ฟังดนตรี เดินเล่น นั่งจิบชา เล่นวีดิโอเกม จากนั้นก็นำแต่ละคนไปตรวจวัดระดับความเครียดด้วยวิธีการทางการแพทย์
นี่คือรายงานของคณะแพทย์ทางประสาทวิทยาผู้วิจัย
การอ่านหนังสือ ให้ผลดีที่สุด คือลดระดับความเครียดได้ถึงร้อยละ 68”
คำอธิบายขยายความในทางการแพทย์ มีดังนี้
สิ่งที่เราพบคือ ต้อง อ่านในที่เงียบๆ และใช้เวลา 6 นาที จะช่วยให้อัตราการเต้นของหัวใจค่อยๆ ช้าลง และช่วยคลายความตึงตัวของประสาทและกล้ามเนื้อ ซึ่งก็คือระดับความเครียดของพวกเขาลดต่ำลงกว่าตอนที่พวกเขาเริ่มต้น
ส่วนกิจกรรมอื่นๆ ได้ผลต่างออกไป ได้แก่
การฟังดนตรี ลดระดับความเครียดได้ร้อยละ 61
การนั่งจิบชา ความเครียดลดลงได้ร้อยละ 54
การเดินเล่น ลดระดับความเครียดลงได้ร้อยละ 42
ส่วน การเล่นวีดิโอเกม ทำให้ระดับความเครียดลดลงได้ร้อยละ 21 แต่อาสาสมัครมีอัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้นกว่าตอนที่พวกเขาเริ่มต้น
นพ. เดวิด เลวิส หัวหน้าคณะผู้วิจัย ย้ำข้อสรุปที่ได้ว่า การปล่อยอารมณ์ไปกับการอ่านหนังสือ เป็นวิธีช่วยผ่อนคลายที่ได้ผลสูงสุดทั้งนี้อาจเป็นเพราะ ในยุคเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน เราต่างก็อยากจะหลบเลี่ยงไปที่ใดสักแห่ง
ที่ว่า อ่านต้องอ่านหนังสืออะไรเป็นพิเศษหรืออย่างไร ?
คุณหมอนักประสาทวิทยาทางสมองบอกว่า ไม่สำคัญว่าคุณจะอ่านหนังสืออะไร แต่การปล่อยตัวเองเข้าไปสนใจเรื่องราวในหนังสืออย่างดื่มด่ำ สามารถช่วยให้คุณหลบหนีจากความกังวลและความเครียดในชีวิตประจำวันได้แล้ว และใช้ช่วงเวลาชั่วขณะนั้นสำรวจสิ่งที่เป็นจินตนาการของผู้เขียน
ย้ำกันอีกครั้ง อ่านหนังสือเพียง 6 นาที สามารถลดระดับความเครียดลงได้ถึงร้อยละ 68 นักวิจัยพบว่า การอ่านหนังสืออยู่เงียบๆ คนเดียวทำให้อัตราการเต้นของหัวใจช้าลงและบรรเทาความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ การอ่านยังมีประสิทธิผลมากกว่ากิจกรรม ผ่อนคลายแบบอื่นๆ ที่นิยมกัน เช่น การฟังดนตรี หรือการนั่งจิบชา
นั่นเพราะ การอ่านจะพาเราเข้าไปสนใจเรื่องราวในหนังสือ เมื่อจดจ่ออยู่ในนั้นคุณก็สามารถจะหนีไปจากความกังวลและความเครียดได้ มากไปกว่านั้นคุณก็จะได้ท่องไปกับสิ่งที่เป็นจินตนาการที่ปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มนั้น ความเพลิดเพลินที่ได้พลิกพลิ้วไปกับอารมณ์ต่างๆ ในเรื่อง จะนำพาอะไรๆ มาให้ผู้อ่านได้อีกไม่น้อย
หัวหน้าคณะผู้วิจัยอธิบายว่า
นี่ไม่ใช่แค่การเบนความสนใจเท่านั้น แต่การเข้าไปในจินตนาการของถ้อยคำที่พิมพ์อยู่บนหน้ากระดาษ จะช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ของคุณ และทำให้จิตใต้สำนึกของคุณสร้างทางเลือกใหม่ขึ้นมา
เช่นนี้แล้ว หากเป็นวรรณกรรมชั้นดี บันเทิงคดีที่ลึกซึ้งด้วยคุณค่าสถิตย์ จะยิ่งโน้มนำให้ผู้อ่านไปได้อีกหลายชั้นหลายเชิง ทำให้ผู้อ่านได้ เคี้ยวเอื้องตัวหนังสือที่สานร้อยถ้อยกระทงความด้วยกระแสความคิด จินตนาการ จิตวิญญาณ
การวิจัยของคณะแพทย์ทางประสาทวิทยากลุ่มนี้ ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทกาแล็กซี่ (บริษัทผลิตภัณฑ์ประเภทช็อคโกแลต) ภายหลังจากรายงานผลการวิจัยออกมา 6 เดือน บริษัทกาแล็กซี่ ก็ได้ประกาศรณรงค์ครั้งใหญ่ให้ลูกค้าได้อ่านหนังสืออย่างถ้วนทั่วหน้า ด้วยการแจกหนังสือฟรี 1 ล้านเล่ม ทั่วสหราชอาณาจักร ใครจะเอาไอเดียนี้ไปใช้ สมควรได้รับอนุโมทนาจากชาวประชาผู้ (อยากให้คน) รักการอ่านทั้งหลาย
อ่านหนังสือไม่เพียงทำให้เราได้พักใจ ทำให้รู้สึกผ่อนคลายได้เท่านั้น ความสุขจากหนังสือยังมีผลช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินชีวิต เพิ่มพฤติกรรมสุขภาพที่ดีได้อีกด้วย ดังนั้น ลดความเครียดด้วยการอ่านและทำอารมณ์ให้แจ่มใสในทุกๆ วันด้วยหนังสือเล่มใหม่ๆ ที่ชวนให้เพลิดเพลินจำเริญใจ

บทความโดย ถิรนันท์ อนวัชศิริวงศ์ และพิรุณ อนวัชศิริวงศ์
ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมการอ่าน
เนื้อหาจากเว็บไซต์ https://readercenter2020.wixsite.com/readersquare


อ่านเพื่อความเพลิดเพลิน สุดยอดของการพัฒนาสมอง



การอ่านเพื่อความเพลิดเพลิน สำคัญที่สุดต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็ก มากกว่าฐานะทางเศรษฐกิจและสถานภาพทางสังคมนี่คือข้อสรุปจากผลการวิจัยเรื่องการอ่านของประเทศอังกฤษ งานวิจัยนี้นำไปสู่ข้อเสนอแนะว่า ขอให้ผู้ใหญ่ใช้เวลาเพียงวันละ 20 นาทีร่วมกับเด็กๆ ในการอ่านเรื่องที่ทำให้เขาเพลิดเพลิน จะให้ผลดีในทุกๆ ด้าน และจะเป็นบ่อเกิดของการสร้างนิสัยรักการอ่านที่น่าอัศจรรย์
เพราะเหตุใด การอ่านนั้นจึงต้องเป็น การอ่านเพื่อความเพลิดเพลิน
สมองจะทำงานได้ดีเมื่อเราอยู่ในภาวะที่ผ่อนคลายและไม่เครียด ปกติเมื่อสมองรับข้อมูลโดยผ่านทางประสาทสัมผัส (ตา หู จมูก ลิ้น ผิวกาย) ข้อมูลเหล่านั้นจะเข้าไปที่ก้านสมองก่อน จากนั้นจึงถูกส่งไปที่ธาลามัส (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสมองชั้นนอก) เพื่อแยกข้อมูลข่าวสาร ก่อนที่จะส่งไปส่วนอื่นๆ เช่นเมื่อเวลาเราอ่านหนังสือ ธาลามัสจะส่งข้อมูลไปยังเปลือกหุ้มสมองหรือซีรีบรัล คอร์เท็กซ์ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเห็น ซีรีบรัล คอร์เท็กจะแยกแยะว่าจะทำอย่างไรกับข้อมูล เก็บไว้ชั่วคราวหรือส่งต่อไปเก็บไว้ที่หน่วยความจำถาวร การถ่ายทอดข้อมูลจะขึ้นอยู่กับภาวะอารมณ์ในขณะนั้นด้วย
การอ่านนิทาน การ์ตูน หรือหนังสือที่เพลิดเพลินชวนติดตาม นอกจากสร้างความบันเทิงให้กับผู้อ่านแล้วยังเป็นตัวเชื่อมไปสู่การอ่านหนังสือแนวอื่นๆ ในเวลาต่อไปด้วย
ผู้ทรงคุณวุฒิด้านพัฒนาการของสมอง ได้เปิดมิติความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกที่เกิดขึ้นในสมอง ว่าการนำข้อมูลทุกชนิดเข้าสู่สมอง ถ้าผ่านอารมณ์ความรู้สึก ฮิปโปแคมปัส (hippocampus) ซึ่งเป็นสมองส่วนความจำ จะส่งความรู้ทั้งหมดเข้าสู่ระบบความจำถาวรของสมอง ถ้าไม่มีอารมณ์มากำกับการเรียนรู้ หรือไม่เกิดความรู้สึกร่วม สมองส่วนที่เรียกว่า อมิกดาลา (amygdala) ซึ่งเป็นส่วนที่ก่อให้เกิดอารมณ์ต่างๆ ที่อยู่ใกล้กับฮิปโปแคมปัส ก็จะไม่ส่งสัญญาณไปยังฮิปโปแคมปัส แต่จะย้ายข้อมูลนี้ไปสู่หน่วยความจำชั่วคราว ซึ่งมีระยะเวลาที่คงอยู่ในสมองประมาณ 7-8 นาที จนถึง 3 วัน แล้วจึงถูกลบ
หากข้อมูลนั้นน่าตื่นเต้น สนุก กระทบใจ อมิกดาลาจะส่งสัญญาณไปยังฮิปโปแคมปัสซึ่งจะแปลข้อมูลนี้ว่ามีความสำคัญ ฮิปโปแคมปัสก็จะส่งข้อมูลไปยังพื้นผิวสมองหรือคอร์เท็กซ์ ซึ่งเป็นสมองส่วนคิด และบันทึกเป็นความจำถาวร กลายเป็นคลังข้อมูลในสมองต่อไป
ด้วยหลักการทำงานของสมองดังกล่าว การเรียนรู้ที่ไม่ผ่านอารมณ์ ก็จะไม่ช่วยให้สมองเกิดการพัฒนาเท่าที่ควร
การอ่านที่สร้างความพึงพอใจ ทำให้รู้สึกอิ่มเอมใจ จะทำให้เด็กจดจำสิ่งที่ได้เรียนรู้ได้นาน
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว หากเราเอาอะไร ดีๆใส่เข้าไปในหนังสือสำหรับเด็กอย่างแยบยล เด็กๆ จะเรียนรู้ได้น่าอัศจรรย์สักเพียงใด?
และที่สำคัญก็คือหลักการของ emotional brain กล่าวคือ อารมณ์ความรู้สึกมีบทบาทอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนการเรียนรู้ และยังมีความพิเศษยิ่งไปกว่านั้นก็คือ สมองของเรานั้นเรียนรู้ได้อย่างไม่มีขีดจำกัด (unlimited learning)
ยิ่งเมื่อได้เรียนรู้ด้วยความเพลิดเพลิน ก็ยิ่งรู้ว่าโลกแห่งการเรียนรู้นั้นกว้างใหญ่ไพศาล หนังสือที่ก่อให้เกิดความเพลิดเพลินจึงเป็นการเปิดประตูสู่จักรวาลแห่งการเรียนรู้ที่ไร้ขอบเขต

บทความโดย ถิรนันท์ อนวัชศิริวงศ์
ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมการอ่าน
เนื้อหาจากเว็บไซต์ https://readercenter2020.wixsite.com/readersquare