วันเสาร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เด็กเล็กกับหนังสือภาพ

เด็กเล็กกับหนังสือภาพ

เด็กเล็กเรียนรู้สิ่งต่างๆ จากหนังสือภาพที่เป็นสีได้มากกว่าหนังสือภาพขาวดำ

การอ่านหนังสือภาพ (picture book) ให้เด็กน้อยฟังและให้ดูภาพไปด้วย ไม่เพียงแต่ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการด้านการอ่านของเด็กเท่านั้น แต่ยังเป็นการสอนให้เด็กได้รู้จักโลกรอบตัวของพวกเขาด้วย งานวิจัยด้านจิตวิทยาพัฒนาการที่ตีพิมพ์ในวารสารของสมาคมจิตวิทยาของสหรัฐ ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2006 ชี้ให้เห็นว่าการที่เด็กเล็กได้สัมผัสกับภาพสีที่คล้ายของจริงช่วยในการเรียนรู้ของเด็กได้

ดร. Gabrielle Simcock นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยควีนแลนด์ และ ดร. Judy DeLoache นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย ได้ทดสอบว่า เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ปี สามารถเลียนแบบการเล่าเรื่องอย่างง่ายๆ จากภาพวาดที่คล้ายของจริงจากหนังสือภาพได้หรือไม่

การศึกษามี 2 ครั้ง โดยมีเด็กเข้าร่วมในโครงการทั้งหมด 132 ราย แบ่งเป็น 3 กลุ่มอายุ คือ 18 เดือน, 24 เดือน และ 30 เดือน เพื่อหาข้อสรุปว่า อายุมีผลต่อความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กที่จะเล่าเรื่องอย่างง่ายๆ จากการอ่านหนังสือภาพอย่างไร

ในการศึกษาครั้งที่ 1 ได้แบ่งเด็กออกเป็น 2 กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีทั้ง 3 กลุ่มอายุ ทั้งสองกลุ่มได้รับหนังสือภาพต่างชุดกัน แต่มีเรื่องราวและองค์ประกอบในภาพเหมือนกัน กลุ่มแรกได้หนังสือภาพที่เป็นภาพถ่ายสี 6 ภาพ และอีกกลุ่มหนึ่งได้หนังสือภาพที่เป็นภาพวาดสี วาดเลียนแบบภาพถ่ายทั้ง 6 ภาพ
หลังจากอ่านหนังสือให้เด็กฟังแล้ว ก็ขอให้เด็กๆ เลือกภาพใดภาพหนึ่งจากหนังสือขึ้นมาเล่า ผลการทดสอบพบว่า เด็กส่วนใหญ่สามารถพูดเล่าเรื่องเลียนแบบตามที่หนังสือบรรยายไว้ได้

ผู้วิจัยกล่าวว่า “การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า เด็กสามารถเรียนรู้ที่จะเล่าเรื่องเลียนแบบตามหนังสือที่มีขนาดสั้นๆ ได้ ซึ่งเป็นรูปแบบของการปฏิสัมพันธ์โดยทั่วไป และสามารถใช้หนังสือภาพเป็นแหล่งป้อนข้อมูลที่เกี่ยวกับโลกรอบๆ ตัวของเด็กๆ ได้”

ภาพที่ถ่ายจากวัตถุจริงกับภาพวาดคล้ายของจริงจากหนังสือเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลจูงใจเด็กให้สนใจได้มาก แต่เด็กอายุ18 เดือน จะมีปัญหาในการทำตามคำสั่งที่ผู้วิจัยต้องการ รวมทั้งไม่สามารถหาความแตกต่างระหว่างหนังสือภาพทั้งสองแบบได้ ดังนั้น ผู้วิจัยจึงเลือกกลุ่มใหม่ขึ้นมาอีกกลุ่มหนึ่ง โดยมีเฉพาะเด็กอายุ 24 เดือน และ 30 เดือน เพื่อทำการทดลองในครั้งที่ 2 ซึ่งเปลี่ยนมาศึกษาถึงการสนองตอบต่อหนังสือภาพขาวดำ (องค์ประกอบของภาพเหมือนการทดลองครั้งที่ 1 ทั้ง 6 ภาพ นอกจากเรื่องสี)

การทดสอบครั้งที่ 2 แสดงให้เห็นว่าเด็กเล่าเรื่องจากภาพขาวดำได้ค่อนข้างด้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับเด็กกลุ่มแรกที่เล่าเรื่องจากหนังสือที่เป็นภาพถ่ายและภาพสี

ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า ความสมบูรณ์ขององค์ประกอบของภาพที่เป็นสีมีส่วนช่วยในการพัฒนาการสำหรับเด็กอายุประมาณ 2 ปี ได้มากกว่าภาพขาวดำ “ภาพเสมือนจริงมีส่วนช่วยในการพัฒนาเด็กมากกว่าภาพที่มีลักษณะเป็นตัวแทนสัญลักษณ์” ผู้วิจัยกล่าวทิ้งท้าย

(จาก ScienceDaily : Nov. 6, 2006 แปลและเรียบเรียงโดย พิรุณ อนวัชศิริวงศ์ : ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมการอ่าน)


**********

วันพุธที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ลองนึกภาพฉากนี้ดู

ลองนึกภาพฉากนี้ดู

กลุ่มนักเรียนชั้นประถมตอนปลายกลุ่มหนึ่งกำลังเรียนเกี่ยวกับเทพนิยายและนิทานพื้นบ้าน พวกเขารวมตัวกันเพื่อที่จะอ่านเรื่องที่ดัดแปลงมาจากนิทานเก่าๆ เรื่อง “หม้อวิเศษ เด้งดึ๋งได้” เด็กๆ ฝึกซ้อมกันเป็นกลุ่มเล็กๆ และตอนนี้ก็พร้อมที่จะอ่านให้กับเพื่อนๆ ที่เหลือในชั้นเรียนฟังแล้ว
บ้างก็นั่ง บ้างก็ยืนอยู่หน้าชั้นเรียน โดยทั้งหมดหันหน้ามาทางผู้ชม ผู้บรรยายยืนอยู่หลังที่วางโน้ตดนตรีและเปิดแฟ้มสีที่วางอยู่บนนั้น แล้วก็เริ่มอ่าน
“กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เมื่อพวกหมูสามารถผิวปากและหม้อสามารถพูดได้ มีสามีภรรยาที่ยากจนอยู่คู่หนึ่งอาศัยอยู่ในบ้านอันทรุดโทรม ทั้งคู่เป็นเจ้าของหมูที่ผอมโซอยู่ตัวหนึ่ง”
สามีพูดกับคนดูด้วยท่าทางที่หิวโหยและสั่นเทา “ผมคือสามี” เขาพูด “และฉันเป็นภรรยา ภรรยาส่งเสียงตะโกนมา “อู๊ด!” ตามด้วยเสียงของหมู แล้วเรื่องก็ดำเนินต่อ
ชายผู้หิวโหยกับภรรยาตัดสินใจจะขายหมูที่ผอมโซของพวกเขา จึงได้นำไปขายที่ตลาด “ไม่มีใครซื้อหมูที่ผอมโซอย่างนี้หรอก” เขาคร่ำครวญ แต่แล้วในที่สุดหมูก็ถูกขายให้กับคนแคระคนหนึ่งด้วยการแลกกับหม้อต้มซุปสีดำเก่าๆ ใบหนึ่ง คนแคระหวังว่าหมูตัวใหม่ของเขาจะเรียนรู้ที่จะผิวปากเพลง “ดวงดาววาววับจรัสแสง” ได้
ขณะที่การอ่านดำเนินต่อไป ผู้อ่านอ่านบทบรรยายหรือบทของตัวละครของพวกเขาได้อย่างคล่องแคล่ว พวกเขาอ่านด้วยความกระตือรือร้นจากบทที่อยู่เบื้องหน้าของพวกเขา
กลับไปที่บ้านนั้นอีกครั้ง ภรรยาเตรียมที่จะต้มมันฝรั่งที่เหลืออยู่ชิ้นสุดท้ายของพวกเขาในหม้อสีดำเก่าๆ ใบนั้น แต่ทันทีที่เธอวางหม้อบนเตาไฟ หม้อก็เริ่มส่งเสียงแปลกๆ เสียงนั้นยิ่งดังขึ้นๆ จนกระทั่งหม้อนั้นร้องตะโกนเสียงดังออกมา
“ข้าเป็นหม้อวิเศษเด้งดึ๋งได้
นี่เห็นข้าเป็นอะไร
ข้าต้องกระโดดฉับไว
ปล่อยข้าไป!”
ผู้อ่านทั้งหมดร่วมกันตะโกนด้วยเสียงอันดัง ปล่อยข้าไป! ปล่อยข้าไป! ปล่อยข้าไป! ถ้อยคำปล่อยข้าไปถูกพูดซ้ำแล้วซ้ำอีกตลอดทั้งเรื่อง ทั้งผู้อ่านและผู้ฟังเข้าร่วมกันในโอกาสนี้
เรื่องยังดำเนินต่อไป แล้วหม้อวิเศษเด้งดึ๋งได้ก็กระโดดเข้าไปในถ้ำของสัตว์ประหลาด กระเด้งเข้าไปในยุ้งข้าวของเจ้ายักษ์ และกระดอนเข้าไปในกระท่อมของแม่มด จากนั้นก็นำรางวัลมาให้แก่เจ้าของของมันด้วยหม้อที่จุไปด้วยขนม หม้ออีกใบเต็มไปด้วยเมล็ดข้าว และอีกใบหนึ่งก็เต็มไปด้วยเงินทอง แต่สัตว์ประหลาด เจ้ายักษ์ และแม่มดก็ยังคงไล่ล่าหม้อใบนี้ แล้วในที่สุดหม้อสีดำก็ “กระโดด กระเด้ง กระดอน” เข้าไปในหม้อใบใหญ่ที่ใช้สำหรับต้มซุปของแม่มด แม่มดกรีดร้อง
“เจ้าหม้อซุ่มซ่าม! ถึงเจ้าจะกระโดด กระเด้ง กระดอนไปได้ไกลถึงอลาสก้าพวกข้าก็ไม่สน! แค่หลบไปไกลๆ ให้พวกข้าได้ตักซุปนี้กินก็พอแล้ว!”
แต่แน่นอนว่าหม้อใบนี้ก็ยังคงกระโดดกระเด้งต่อไป มันกระโดดผ่านไปที่บ้านคนแคระ ที่ที่หมูกำลังผิวปากเพลง “ดวงดาววาววับจรัสแสง” อยู่ข้างถนน และจากนั้นมาก็ไม่มีใครเห็นหม้อวิเศษเด้งดึ๋งได้นั้นอีกเลย ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องน่าประหลาดใจ พวกนักอ่านบอกเราว่า เพราะ
“อลาสก้านั้นอยู่แสนไกล
แม้จะเป็นหม้อวิเศษเด้งดึ๋งได้ ก็ไม่สามารถ กระโดด-กระเด้ง-กระดอน กลับมา!”

นักอ่านทุกคนยืนขึ้นและโค้งคำนับ ผู้ชมปรบมือ ทุกคนยิ้ม

***************
จากหนังสือ ละครสร้างนักอ่าน : Readers Theatre

วันอังคารที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2553

หนังสือคือชีวิต

หนังสือคือชีวิต

มีเหตุผลมากมายในการเลือกอ่านหนังสือของคนแต่ละคน และหนึ่งในจำนวนนั้นคือเพื่อ “ความเพลิดเพลิน” คนอ่านหนังสือด้วยความเพลิดเพลินจะเป็นบ่อเกิดสร้างนิสัยรักการอ่านได้ดี

หนังสือแต่ละเล่มจะมีโลกของตัวมันเอง เป็นประสบการณ์ที่ผู้เขียนสร้างขึ้นมาทั้งจากจินตนาการและประสบการณ์ตรง การอ่านหนังสืออาจทำให้เราหลีกหนีไปไกลโพ้นสู่ดินแดนมหัศจรรย์อีกแห่ง แต่บางครั้ง เราก็อาจรู้สึกว่าความคิดเห็นของเราช่างพ้องพานกับเรื่องราวในหนังสือ ก่อเกิดแนวทางในการ “สะกดรอย” หรือ “แยกตนเองออกมา” จากสิ่งเหล่านั้นได้

หนังสือมอบสำนึกแห่งโลกที่เป็นส่วนตัวให้กับผู้อ่าน “การอ่านเหมือนกับการเข้าฌานที่อยู่ระหว่างการหลับและการตื่น ผมจำไม่ได้ว่าผมเคยรู้สึกเหงาบ้างไหม... (เมื่อยามเด็ก) นานๆ ครั้งที่ผมจะมีโอกาสอยู่กับเด็กคนอื่นๆ ผมพบว่าการละเล่นและการพูดคุยของพวกเด็กเหล่านั้นช่างน่าสนใจน้อยกว่าการผจญภัยและบทสนทนาที่ผมอ่านจากหนังสือเสียนี่กระไร... หนังสือทำให้ผมมีบ้านถาวร เป็นบ้านที่ทำให้ผมอยู่ได้อย่างแท้จริงตามความรู้สึก ไม่ว่าจะเป็นเวลาใด...” (Alberto Manguel)

โลกของหนังสือมีอะไรมากมายให้ค้นหา การปลูกฝังนิสัยรักการอ่านแต่วัยเยาว์จึงเป็นการเปิดบานประตูสู่โลกกว้าง โลกของนักอ่านจึงเป็นโลกแห่งการเรียนรู้ โลกแห่งการแสวงหา แม้ก้นบึ้งอารมณ์ความคิดของตนเองก็อาจพบได้จากหนังสือ

การอ่านหนังสือจึงเป็นกระบวนการสะสมความคิด การอ่านสิ่งใหม่ๆ แต่ละครั้งก็คือการต่อยอดของสิ่งที่เคยอ่านไปแล้วให้เพิ่มพูนขึ้น อุปมาเหมือนลำดับขั้นทางเรขาคณิตที่จะสะสมทวีคูณขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

**************

Readers Theatre คืออะไร

Readers Theatre คืออะไร

รีดเดอร์ส เธียเตอร์ (Readers Theatre : RT) เป็นรูปแบบของการแสดงละครแบบหนึ่งที่รวมผู้เข้าร่วมกิจกรรมให้เข้ามาอ่านหนังสือหรือบท (script) ด้วยการอ่านออกเสียง RT ไม่จำเป็นต้องมีฉากหรือเครื่องแต่งกาย ไม่ต้องใช้การแสดงเต็มรูปแบบ และไม่ต้องท่องจำบท ผู้อ่านเพียงแต่ใช้ความรู้สึก น้ำเสียงและอารมณ์ และนำเสนอตัวละครด้วยการใช้เสียง การแสดงสีหน้าและท่าทางง่ายๆ ตลอดช่วงที่ใช้ RT ผู้อ่านจะอยู่กลางเวทีและมุ่งความสนใจทั้งหมดไปที่การอ่าน ผู้อ่านคือดารานักแสดง

RT นำองค์ประกอบของการละครเข้ามาในการอ่านและการเรียนรู้หนังสือ และเปลี่ยนสถานที่จัดกิจกรรมให้เป็นเวทีการแสดงที่น่าหลงใหล RT ต่างจากการละครโดยทั่วไป เพราะไม่ต้องจัดหาหรือจัดสร้างภาพของเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นบนเวที แต่เป็นการนำเสนอเรื่องราวอย่างง่ายๆ มากกว่าการแสดงออกมาจริง เหตุการณ์ต่างๆ นั้นไม่ใช่การแสดงออกมาให้เห็นจริงๆ แต่เป็นการทำให้เกิดภาพขึ้นในความนึกคิด RT เป็นละครแห่งการจินตนาการ เพราะผู้ชมจะร่วมจินตนาการกับนักแสดงในการสร้างเรื่องราวให้มีชีวิตขึ้นในโรงละครแห่งจินตนาการ

รีดเดอร์ส เธียเตอร์ (Readers Theatre) มีจุดมุ่งหมายต่างจากละครโดยทั่วไป ขณะที่ละคร (Theatre) มีเป้าหมายเพื่อให้ความบันเทิงและให้สาระกับผู้ชมโดยการจำลองภาพ “โลกสมมุติ” ให้เกิดความเชื่อถือมากที่สุด แต่รีดเดอร์ส เธียเตอร์สามารถให้ทั้งความบันเทิงและใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนให้เกิดความเข้าใจในวรรณกรรมได้ลึกซึ้งมากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากการอ่านเพียงอย่างเดียว

ความแตกต่างระหว่างการแสดง “ละคร” กับการแสดง “รีดเดอร์ส เธียเตอร์”

ละคร
1. เน้นที่การแสดง
2. นักแสดงจะมีจุดมองหลักๆ อยู่บนเวที คือมองหน้ากันระหว่างนักแสดง (on-stage focus)
3. นักแสดงจะต้องจำบท และต้องไม่ถือบทขณะแสดง
4. นักแสดงจะต้องแต่งหน้าและแต่ง ตัวเพื่อแสดงบุคลิกลักษณะของตัวละคร
5. คนดูกับนักแสดงจะแยกออกจากกัน และมักจะมีพื้นที่หรือเวทีให้รู้ว่าเป็นการแสดง
6. นักแสดงจะใช้การเคลื่อนไหวมากและเคลื่อนไหวไปบนพื้นที่เวที และใช้อุปกรณ์ประกอบฉากเป็นประโยชน์ในการแสดง

รีดเดอร์ส เธียเตอร์
1. เน้นที่เนื้อหาวรรณกรรม
2. นักแสดงจะสร้างจินตนาการให้กับคนดูเกี่ยวกับตัวละครที่ปรากฏในบท โดยมองไปนอกเวที ซึ่งมักจะมองไปที่ด้านหลังกลุ่มคนดู (off-stage focus) และมีผู้บรรยายร่วมแสดงด้วย
3. นักแสดงต้องมีบท (ถือ/วาง) ให้เห็นบนเวที ไม่จำเป็นต้องจำเพราะใช้การอ่าน แต่ต้องซ้อม
4. นักแสดงไม่จำเป็นต้องแต่งตัว แต่ใช้ความสามารถในการสร้างจินตนาการให้ผู้ฟังเห็นภาพ
5. คนดูจะใกล้ชิดกับนักแสดง และใช้พื้นที่ใดเป็นเวทีก็ได้ เพราะไม่จำเป็น ต้องมีอุปกรณ์/ฉาก
6. นักแสดงไม่เคลื่อนที่มากนัก แต่ใช้น้ำเสียง สายตา และท่าทางเพียงเล็กน้อยประกอบ

ข้อมูลจาก
ละครสร้างนักอ่าน : Readers Theatre
ศิลปะการละครเพื่อส่งเสริมการอ่าน
โดย
ถิรนันท์ อนวัชศิริวงศ์
พิรุณ อนวัชศิริวงศ์


******************

นักสื่อสารรักการอ่าน

นักสื่อสารรักการอ่าน

ผลการศึกษาการอ่านหนังสือในประเทศอังกฤษ (The Reading Agency and BML survey Book Reading and Library use, 2005) พบว่า ชาวอังกฤษอ่านหนังสือสัปดาห์ละ 4.6 ชั่วโมง หรือ 39 นาทีต่อวัน และอ่านเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากการอ่านของเพื่อนหรือผู้ใกล้ชิด
1 ใน 5 อ่านหนังสือเพราะมีผู้แนะนำ
1 ใน 6 จะแนะนำหนังสือให้กับผู้อื่นต่อ
1 ใน 7 จะพูดคุยถึงเรื่องหนังสือที่พวกเขาอ่าน
จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าจำนวนผู้อ่านจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

นักสื่อสารรักการอ่าน คือ ทุกคนที่แนะนำให้ผู้อื่นรักที่จะอ่านหนังสือ การอ่านหนังสือให้เด็กเล็กๆ ฟังก็เป็นการแนะนำให้เด็กๆ รักที่จะอ่านหนังสือได้เช่นกัน ดังนั้น พ่อแม่ ครู พี่เลี้ยงเด็ก เจ้าหน้าที่ห้องสมุด หรือใครก็ตามย่อมเป็นนักสื่อสารรักการอ่านได้ทั้งสิ้น แต่นักสื่อสารรักการอ่านต้องมีเทคนิค คือ รู้จักหนังสือ รักการอ่านหนังสือ รู้วิธีสื่อสารสู่ผู้อ่าน และรักคนอ่านหนังสือ

รู้จักหนังสือ คือรู้จักแบ่งประเภทของหนังสือและคุณสมบัติของหนังสือที่ดี รู้จักเลือกประเภทของหนังสือที่จะนำมาสื่อสารให้เหมาะสมกับวัยและความสนใจของเด็กๆ หรือกลุ่มเป้าหมายได้

รักการอ่านหนังสือ เพราะการที่จะแนะนำให้ผู้อื่นรักหรือชอบสิ่งใดย่อมเกิดจากสำนึกที่เรามีอยู่ เด็กๆ มักมีพฤติกรรมเลียนแบบ ผู้ที่รักการอ่านหนังสือนอกจากจะเป็นต้นแบบที่สำคัญให้กับเด็กๆ แล้วยังเป็นการเพิ่มพูนขยายฐานความรู้ความคิดของตนเองด้วย

รู้วิธีสื่อสารสู่ผู้อ่าน รู้บทบาทของตนเองและรู้ว่าควรใช้เทคนิควิธีใดจึงจะเหมาะสม ด้วยเหตุที่การสื่อสารรักการอ่านมิใช่กิจกรรมส่วนตัวที่ทำเพียงคนเดียว จึงต้องรู้วิธีการสื่อสารที่เหมาะสม เช่น พ่อแม่/พี่เลี้ยงเด็กอาจใช้วิธีเล่านิทาน-อ่านให้เด็กฟัง ครูอาจใช้การอ่าน-เล่าประกอบเสียงที่แสดงอารมณ์และท่าทาง หรือมอบหมายให้นักเรียนเป็นผู้อ่าน/ผู้เล่า อ่านแบบคนเดียวหรืออ่านหมู่ประกอบการแสดง เจ้าหน้าที่ห้องสมุดและนักจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน อาจใช้เทคนิคการละคร เทคนิครีดเดอร์ส เธียเตอร์มาช่วยส่งเสริมการอ่าน เป็นต้น

รักคนอ่านหนังสือ คือต้องรู้จักธรรมชาติของเด็กแต่ละวัย รู้จักวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย และพร้อมที่จะ “ให้” เพื่อพัฒนาการด้านการอ่านของเด็กๆ

“การอ่านเพื่อความเพลิดเพลินนั้น สำคัญที่สุดต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กๆ มากกว่าฐานะทางเศรษฐกิจและสถานภาพทางสังคม” (Reading for change, OECD, 2002) ผลการวิจัยเรื่องการอ่านสรุปไว้เช่นนี้ และการใช้เวลาเพียงวันละ 20 นาทีร่วมกับเด็กๆ ในการอ่าน จะช่วยให้การอ่านของพวกเขาดีขึ้นได้
20 นาทีทุกวัน กับ 20 นาทีครั้งหรือสองครั้งต่อสัปดาห์ จะมีผลแตกต่างกัน และเราย่อมรู้ถึงผลที่แตกต่างกันนี้ได้ดี


**************