วันอังคารที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2553

Readers Theatre คืออะไร

Readers Theatre คืออะไร

รีดเดอร์ส เธียเตอร์ (Readers Theatre : RT) เป็นรูปแบบของการแสดงละครแบบหนึ่งที่รวมผู้เข้าร่วมกิจกรรมให้เข้ามาอ่านหนังสือหรือบท (script) ด้วยการอ่านออกเสียง RT ไม่จำเป็นต้องมีฉากหรือเครื่องแต่งกาย ไม่ต้องใช้การแสดงเต็มรูปแบบ และไม่ต้องท่องจำบท ผู้อ่านเพียงแต่ใช้ความรู้สึก น้ำเสียงและอารมณ์ และนำเสนอตัวละครด้วยการใช้เสียง การแสดงสีหน้าและท่าทางง่ายๆ ตลอดช่วงที่ใช้ RT ผู้อ่านจะอยู่กลางเวทีและมุ่งความสนใจทั้งหมดไปที่การอ่าน ผู้อ่านคือดารานักแสดง

RT นำองค์ประกอบของการละครเข้ามาในการอ่านและการเรียนรู้หนังสือ และเปลี่ยนสถานที่จัดกิจกรรมให้เป็นเวทีการแสดงที่น่าหลงใหล RT ต่างจากการละครโดยทั่วไป เพราะไม่ต้องจัดหาหรือจัดสร้างภาพของเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นบนเวที แต่เป็นการนำเสนอเรื่องราวอย่างง่ายๆ มากกว่าการแสดงออกมาจริง เหตุการณ์ต่างๆ นั้นไม่ใช่การแสดงออกมาให้เห็นจริงๆ แต่เป็นการทำให้เกิดภาพขึ้นในความนึกคิด RT เป็นละครแห่งการจินตนาการ เพราะผู้ชมจะร่วมจินตนาการกับนักแสดงในการสร้างเรื่องราวให้มีชีวิตขึ้นในโรงละครแห่งจินตนาการ

รีดเดอร์ส เธียเตอร์ (Readers Theatre) มีจุดมุ่งหมายต่างจากละครโดยทั่วไป ขณะที่ละคร (Theatre) มีเป้าหมายเพื่อให้ความบันเทิงและให้สาระกับผู้ชมโดยการจำลองภาพ “โลกสมมุติ” ให้เกิดความเชื่อถือมากที่สุด แต่รีดเดอร์ส เธียเตอร์สามารถให้ทั้งความบันเทิงและใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนให้เกิดความเข้าใจในวรรณกรรมได้ลึกซึ้งมากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากการอ่านเพียงอย่างเดียว

ความแตกต่างระหว่างการแสดง “ละคร” กับการแสดง “รีดเดอร์ส เธียเตอร์”

ละคร
1. เน้นที่การแสดง
2. นักแสดงจะมีจุดมองหลักๆ อยู่บนเวที คือมองหน้ากันระหว่างนักแสดง (on-stage focus)
3. นักแสดงจะต้องจำบท และต้องไม่ถือบทขณะแสดง
4. นักแสดงจะต้องแต่งหน้าและแต่ง ตัวเพื่อแสดงบุคลิกลักษณะของตัวละคร
5. คนดูกับนักแสดงจะแยกออกจากกัน และมักจะมีพื้นที่หรือเวทีให้รู้ว่าเป็นการแสดง
6. นักแสดงจะใช้การเคลื่อนไหวมากและเคลื่อนไหวไปบนพื้นที่เวที และใช้อุปกรณ์ประกอบฉากเป็นประโยชน์ในการแสดง

รีดเดอร์ส เธียเตอร์
1. เน้นที่เนื้อหาวรรณกรรม
2. นักแสดงจะสร้างจินตนาการให้กับคนดูเกี่ยวกับตัวละครที่ปรากฏในบท โดยมองไปนอกเวที ซึ่งมักจะมองไปที่ด้านหลังกลุ่มคนดู (off-stage focus) และมีผู้บรรยายร่วมแสดงด้วย
3. นักแสดงต้องมีบท (ถือ/วาง) ให้เห็นบนเวที ไม่จำเป็นต้องจำเพราะใช้การอ่าน แต่ต้องซ้อม
4. นักแสดงไม่จำเป็นต้องแต่งตัว แต่ใช้ความสามารถในการสร้างจินตนาการให้ผู้ฟังเห็นภาพ
5. คนดูจะใกล้ชิดกับนักแสดง และใช้พื้นที่ใดเป็นเวทีก็ได้ เพราะไม่จำเป็น ต้องมีอุปกรณ์/ฉาก
6. นักแสดงไม่เคลื่อนที่มากนัก แต่ใช้น้ำเสียง สายตา และท่าทางเพียงเล็กน้อยประกอบ

ข้อมูลจาก
ละครสร้างนักอ่าน : Readers Theatre
ศิลปะการละครเพื่อส่งเสริมการอ่าน
โดย
ถิรนันท์ อนวัชศิริวงศ์
พิรุณ อนวัชศิริวงศ์


******************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น