วันอังคารที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2553

นักสื่อสารรักการอ่าน

นักสื่อสารรักการอ่าน

ผลการศึกษาการอ่านหนังสือในประเทศอังกฤษ (The Reading Agency and BML survey Book Reading and Library use, 2005) พบว่า ชาวอังกฤษอ่านหนังสือสัปดาห์ละ 4.6 ชั่วโมง หรือ 39 นาทีต่อวัน และอ่านเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากการอ่านของเพื่อนหรือผู้ใกล้ชิด
1 ใน 5 อ่านหนังสือเพราะมีผู้แนะนำ
1 ใน 6 จะแนะนำหนังสือให้กับผู้อื่นต่อ
1 ใน 7 จะพูดคุยถึงเรื่องหนังสือที่พวกเขาอ่าน
จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าจำนวนผู้อ่านจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

นักสื่อสารรักการอ่าน คือ ทุกคนที่แนะนำให้ผู้อื่นรักที่จะอ่านหนังสือ การอ่านหนังสือให้เด็กเล็กๆ ฟังก็เป็นการแนะนำให้เด็กๆ รักที่จะอ่านหนังสือได้เช่นกัน ดังนั้น พ่อแม่ ครู พี่เลี้ยงเด็ก เจ้าหน้าที่ห้องสมุด หรือใครก็ตามย่อมเป็นนักสื่อสารรักการอ่านได้ทั้งสิ้น แต่นักสื่อสารรักการอ่านต้องมีเทคนิค คือ รู้จักหนังสือ รักการอ่านหนังสือ รู้วิธีสื่อสารสู่ผู้อ่าน และรักคนอ่านหนังสือ

รู้จักหนังสือ คือรู้จักแบ่งประเภทของหนังสือและคุณสมบัติของหนังสือที่ดี รู้จักเลือกประเภทของหนังสือที่จะนำมาสื่อสารให้เหมาะสมกับวัยและความสนใจของเด็กๆ หรือกลุ่มเป้าหมายได้

รักการอ่านหนังสือ เพราะการที่จะแนะนำให้ผู้อื่นรักหรือชอบสิ่งใดย่อมเกิดจากสำนึกที่เรามีอยู่ เด็กๆ มักมีพฤติกรรมเลียนแบบ ผู้ที่รักการอ่านหนังสือนอกจากจะเป็นต้นแบบที่สำคัญให้กับเด็กๆ แล้วยังเป็นการเพิ่มพูนขยายฐานความรู้ความคิดของตนเองด้วย

รู้วิธีสื่อสารสู่ผู้อ่าน รู้บทบาทของตนเองและรู้ว่าควรใช้เทคนิควิธีใดจึงจะเหมาะสม ด้วยเหตุที่การสื่อสารรักการอ่านมิใช่กิจกรรมส่วนตัวที่ทำเพียงคนเดียว จึงต้องรู้วิธีการสื่อสารที่เหมาะสม เช่น พ่อแม่/พี่เลี้ยงเด็กอาจใช้วิธีเล่านิทาน-อ่านให้เด็กฟัง ครูอาจใช้การอ่าน-เล่าประกอบเสียงที่แสดงอารมณ์และท่าทาง หรือมอบหมายให้นักเรียนเป็นผู้อ่าน/ผู้เล่า อ่านแบบคนเดียวหรืออ่านหมู่ประกอบการแสดง เจ้าหน้าที่ห้องสมุดและนักจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน อาจใช้เทคนิคการละคร เทคนิครีดเดอร์ส เธียเตอร์มาช่วยส่งเสริมการอ่าน เป็นต้น

รักคนอ่านหนังสือ คือต้องรู้จักธรรมชาติของเด็กแต่ละวัย รู้จักวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย และพร้อมที่จะ “ให้” เพื่อพัฒนาการด้านการอ่านของเด็กๆ

“การอ่านเพื่อความเพลิดเพลินนั้น สำคัญที่สุดต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กๆ มากกว่าฐานะทางเศรษฐกิจและสถานภาพทางสังคม” (Reading for change, OECD, 2002) ผลการวิจัยเรื่องการอ่านสรุปไว้เช่นนี้ และการใช้เวลาเพียงวันละ 20 นาทีร่วมกับเด็กๆ ในการอ่าน จะช่วยให้การอ่านของพวกเขาดีขึ้นได้
20 นาทีทุกวัน กับ 20 นาทีครั้งหรือสองครั้งต่อสัปดาห์ จะมีผลแตกต่างกัน และเราย่อมรู้ถึงผลที่แตกต่างกันนี้ได้ดี


**************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น