วันพฤหัสบดีที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2554

แก่นสาระและสุนทรียภาพหนังสือเด็กปฐมวัย:
จาก ๑๐๘ หนังสือดีสู่เวทีปฏิรูปจิตสำนึกเด็กไทยด้วยหนังสือ “เล่มใหม่”
เอกสารประกอบการนำเสนองานวิจัย เรื่อง “การวิเคราะห์แก่นสาระและสุนทรียภาพหนังสือเด็กปฐมวัย: จาก ๑๐๘ หนังสือดีของแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน”
โดย อาจารย์พิรุณ อนวัชศิริวงศ์ ศูนย์พัฒนานวัตกรรมการอ่าน
รศ.ถิรนันท์ อนวัชศิริวงศ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ประกอบด้วยบทความวิจัย 2 ภาค ได้แก่
ภาคแรก แก่นสาระของหนังสือเด็กสู่ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปจิตสำนึกสังคมไทย
ภาคขยาย หนังสือภาพสำหรับเด็กกับบริบทของสังคมไทย


ภาคแรก - แก่นสาระของหนังสือเด็กสู่ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปสังคมไทย

หลักการและเหตุผล
หนังสือภาพสำหรับเด็กปฐมวัย เป็นสื่อสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดพัฒนาการทางด้านต่างๆ ของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นสติปัญญา ภาษา และจินตนาการ นอกเหนือจากความเพลิดเพลินที่ได้รับจากการอ่านหรือฟังผู้ใหญ่อ่านให้ฟังแล้ว หนังสือภาพยังช่วยให้เด็กเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับสิ่งแวดล้อมรอบตัว เพราะหนังสือภาพนอกจากจะนำเสนอแก่นสาระซึ่งเป็นประเด็นในการพัฒนาเด็ก ได้แก่ การช่วยเหลือตนเอง การรู้จักถูกผิด รู้จักอดทนอดกลั้น ฯลฯ ซึ่งเป็นทักษะการดำรงชีวิตหรือค่านิยมที่พึงสร้างเสริมแล้ว ยังเป็น “บทเรียน” สำหรับเด็กในการเตรียมความพร้อมสู่สังคมที่กว้างขึ้น
การนำเสนอประเด็นหรือแก่นสารต่างๆ ด้วยศิลปะวิธีที่แยบยล จากภาพและภาษา ในหลายลักษณะเพื่อให้การสื่อสารเหมาะสมกับเด็กปฐมวัยในช่วงต่างๆ เช่น ช่วงปฐมวัยตอนต้น ช่วงปฐมวัยตอนกลาง หรือช่วงก่อนเข้าสู่ระดับประถมศึกษา เพื่อเตรียมพร้อมให้เด็กให้เป็นสมาชิกที่มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของสังคม
การทำความเข้าใจหนังสือภาพสำหรับเด็ก โดยผ่านการวิเคราะห์ในด้านแก่นสาระและสุนทรียภาพ โดยอาศัยแนวคิดด้านพัฒนาการเด็ก โดยเฉพาะยิ่งกรอบความคิดเกี่ยวกับ “หน้าต่างแห่งโอกาส” (windows of opportunity) ซึ่งมีความสัมพันธ์กับพัฒนาการของสมองสำหรับเด็กปฐมวัย มีความสำคัญมาก จะทำให้เข้าใจถึงแก่นสารที่นำเสนอ การออกแบบภาพ การใช้ภาษา และอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างเพลิดเพลินแก่เด็ก ฯลฯ ผลที่ได้ย่อมนำมาสู่ความเชื่อมโยงกับคุณค่าที่พึงประสงค์ในการปลูกฝังให้แก่เด็ก ภายใต้บริบทของสังคมและวัฒนธรรม
แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มุ่งหวังให้การอ่านเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญในสังคมไทย และให้ความสำคัญกับคุณค่าของ “สาร” หรือ “เนื้อหาสาระ” ที่ต้องการสื่อถึงเด็ก ด้วยเชื่อว่าการปลูกฝัง “การอ่าน” ในวัยแรกเริ่มของชีวิตจะทำให้การอ่านยั่งยืนไปพร้อมๆ กับการหล่อหลอมบุคลากรที่มีคุณภาพของสังคม จึงได้คัดสรรหนังสือดีสำหรับเด็กปฐมวัย โดยคณะกรรมการซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ โดยในการดำเนินการขั้นสุดท้ายคัดเลือกได้ 108 เล่ม
แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านจึงเห็นควรให้มีการศึกษาวิเคราะห์ แก่นสาระและสุนทรียภาพหนังสือเด็กปฐมวัย จาก 108 เล่มหนังสือดี ที่แผนงานฯ ได้คัดสรรไว้แล้ว เพื่อจักได้ขยายผลสู่การพัฒนาวัฒนธรรมการอ่านและกระทั่งปฏิรูปสังคมไทยต่อไป

สังเขปผลการศึกษา
แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ได้คัดสรรหนังสือดีสำหรับเด็กปฐมวัย จำนวน 108 เล่ม เป็นหนังสือภาพของไทย 67 เรื่อง (ร้อยละ 62) และหนังสือแปล 41 เรื่อง (ร้อยละ 38) จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ 21 แห่ง (17 กลุ่มบริษัท)
การจัดแบ่งหนังสือตามระดับอายุ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มอายุ 0-2, 1-3, 3-5 และ 4-6 ปี เป็นหนังสือในกลุ่ม 4-6 ปี จำนวนมากที่สุด (ร้อยละ 43.5) และหนังสือในกลุ่ม 0-2 ปี มีจำนวนน้อย (ร้อยละ 7.4) ส่วนหนังสือในกลุ่ม 1-3 ปี และ 3-5 ปี มีจำนวนใกล้เคียงกัน (ร้อยละ 25.9 และ 23.2 ตามลำดับ)
ในกลุ่มอายุ 0-2 ปี ไม่มีหนังสือแปล ส่วนกลุ่มอื่นๆ มีทั้งหนังสือภาพของไทยและหนังสือแปล และเกินกว่าครึ่งหนึ่งของหนังสือแปลเป็นหนังสือในกลุ่ม 4-6 ปี
การคัดสรรหนังสือใช้กรอบแนวคิด “หน้าต่างแห่งโอกาส” ในการพัฒนาเด็กปฐมวัย

กรอบความคิด “หน้าต่างแห่งโอกาส” : โอกาสในการพัฒนาเด็ก
การที่คนจะพัฒนาจากทารกกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ธรรมชาติได้กำหนดขั้นตอนไว้เป็นขั้นๆ ความสำเร็จของขั้นต้นๆ จะเป็นฐานสำหรับขั้นต่อไป โดยในช่วงแรกธรรมชาติได้กำหนดให้เป็นช่วงของการพัฒนาทักษะพื้นฐานในการมีชีวิตรอด และใช้เป็นต้นทุนสำหรับพัฒนาศักยภาพในช่วงต่อๆ ไป
การพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ให้มีความสามารถเต็มที่นั้นจึงต้องเดินตามสิ่งที่ธรรมชาติกำหนดไว้ สิ่งนี้เรียกว่า “หน้าต่างแห่งโอกาส” (windows of opportunity)
“หน้าต่างแห่งโอกาส” (windows of opportunity) คือ ช่วงเวลาที่สมองเปิดรับการเรียนรู้ได้ดีที่สุด นักจิตวิทยาเด็กนำแนวคิดนี้มาบูรณาการกับพัฒนาการตามช่วงวัยของเด็ก ถือว่า เป็นโอกาสที่ธรรมชาติมอบให้ ว่าช่วงใดเหมาะสมกับการพัฒนาคุณสมบัติอะไร แต่ละเรื่อง ธรรมชาติได้กำหนดระยะเวลาไว้ให้ หากพ้นช่วงที่ธรรมชาติกำหนดไปแล้ว การพัฒนาก็อาจเกิดขึ้นได้ยาก หรืออาจเป็นไปไม่ได้เลย
· เด็กวัย 0-2 ปี หน้าต่างแห่งโอกาสที่พ่อแม่ ผู้เลี้ยงดูเด็ก สามารถเสริมสร้างให้แก่เด็กในวัยนี้มี 2 ข้อ คือ สร้างความผูกพัน และ ความไว้วางใจผู้อื่น คุณสมบัติทั้งสองประการนี้เป็นคุณสมบัติพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ หากเด็กขาดคุณสมบัติทั้งสองข้อนี้ เมื่อโตขึ้นอาจทำให้ไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่มั่นคงกับผู้อื่นได้
· เด็กวัย 3-5 ปี หน้าต่างแห่งโอกาสที่พ่อแม่ ผู้เลี้ยงดูเด็ก สามารถเสริมสร้างให้แก่เด็กวัยนี้มี 2 ข้อ คือ การรู้จักถูกผิด และ การควบคุมอารมณ์ตัวเอง วัย 3-5 ปี หรือวัยอนุบาลเป็นวัยที่เด็กรู้จักความรู้สึกถูกผิดได้ดี ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่พ่อแม่ ผู้เลี้ยงดูเด็ก จะสอนให้รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ถูก ควรนำไปปฏิบัติ เช่น การรู้จักแบ่งปัน เป็นต้น และอะไรคือสิ่งที่ผิด ไม่ควรปฏิบัติ เช่น ไม่หยิบของผู้อื่น ไม่ทำร้ายผู้อื่น หรือการทะเลาะกับเพื่อนแล้วใช้ความรุนแรง เป็นต้น เด็กวัยนี้เมื่ออยากได้สิ่งของต่างๆ ก็แสดงออกด้วยอารมณ์ ต้องเอาให้ได้ดังใจ จึงควรทำให้เด็กเรียนรู้การควบคุมตัวเอง ควบคุมความโกรธ ความอยากได้ รู้จักรอคอย ในระยะนี้ เรื่องสอนใจให้รู้ว่าอะไรผิด-ถูก ควร-ไม่ควร นับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่เด็กควรจะมีโอกาสได้เรียนรู้ มิฉะนั้นอาจเกิดผลที่ไม่พึงประสงค์ต่อพัฒนาการของเด็กในระยะต่อไป
· เด็กวัย 6-9 ปี หน้าต่างแห่งโอกาสที่ผู้ใหญ่สามารถเสริมสร้างให้แก่เด็กวัยนี้มี 3 เรื่องได้แก่ การประหยัด มีวินัย และ ใฝ่รู้ พัฒนาการของเด็กในช่วงนี้มีความพร้อมที่จะเรียนรู้ในเรื่องของจำนวนเงิน การวางกำหนดกฎเกณฑ์ในเรื่องเวลาและรู้จักร่วมรับผิดชอบ และเปิดรับการเรียนรู้ที่หลากหลาย กระบวนการเรียนรู้ในช่วงวัยนี้จึงควรมีความยืดหยุ่น

หรือจำแนกเป็นพัฒนาการด้านต่างๆ ได้ดังนี้
“หน้าต่าง” “โอกาส” ในการสร้างวงจรของสมองความฉลาดทางอารมณ์ 0-48 เดือนความไว้วางใจ 0-14 เดือน
การควบคุมอารมณ์ 16-48 เดือน
พัฒนาการทางสังคม 0-48 เดือนสร้างความผูกพัน 0-12 เดือน
ความเป็นตัวของตัวเอง (เชื่อมั่น) 18-36 เดือน
การรู้จักร่วมมือทำงาน 24-48 เดือน
ทักษะการคิด 0-48 เดือนรู้จักเหตุ-รู้จักผล 0-16 เดือน
รู้จักแก้ปัญหา 16-48 เดือน
พัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว 0-24 เดือน
การมองเห็น 0-24 เดือน
ทักษะด้านการอ่าน* 0-24 เดือน

การฟังเสียงอ่านในช่วงแรกๆ 4-8 เดือน
คำศัพท์ 0-24 เดือน
*หมายเหตุ : สองสิ่งที่สามารถพยากรณ์ความสำเร็จในด้านการอ่านได้อย่างน่าเชื่อถือมากที่สุด คือ เด็กสามารถแยกความแตกต่างของเสียงได้ และขนาดของจำนวนคำศัพท์ใน “คลัง” เพิ่มขึ้น
จากการวิเคราะห์ประเด็นต่างๆ ในหนังสือ 108 เล่ม จำแนกแบ่งได้ 20 ประเด็น[*] ประเด็นที่พบมากที่สุดคือ การสร้างความผูกพัน (ร้อยละ 15.7) ส่วนประเด็นที่พบน้อย คือ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ ทักษะการแก้ปัญหา การคิดถึงสังคมส่วนรวม และส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ (ร้อยละ 1.9 เท่ากันทั้งสี่ประเด็น) และ การมีวินัย (ร้อยละ 1.4)
ประเด็นการสร้างความผูกพัน พบในหนังสือของทั้ง 4 กลุ่มอายุ
ในด้านเนื้อหา เป็นเรื่องการอยู่ร่วมกันในสังคมมากที่สุด (ร้อยละ 46.3) รองลงมาคือเรื่องเกี่ยวกับชีวิตในครอบครัว (ร้อยละ 23.2) ส่วนแนวคิดของเรื่อง (theme) มุ่งส่งเสริมให้เด็กมีความเชื่อมั่นในตัวเอง/รู้จักตัวเอง มากที่สุด (ร้อยละ 18.5) และมุ่งส่งเสริมเด็กในเรื่องการมีน้ำใจ มีลำดับรองลงมา (ร้อยละ 17.6)
เมื่อเปรียบเทียบแนวคิดของเรื่อง (theme) ระหว่างหนังสือของไทยกับหนังสือแปล พบว่า แก่นเรื่องของหนังสือแปลส่วนใหญ่มุ่งส่งเสริมให้เด็กมีความเชื่อมั่นในตัวเอง/รู้จักตัวเอง ขณะที่หนังสือของไทยมีแก่นเรื่องส่งเสริมเรื่องความมีน้ำใจมากที่สุด
จากแนวคิดของเรื่อง (theme) นำไปเทียบกับคุณธรรมพื้นฐาน 8 ประการตามแนวทางของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งได้แก่ ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย สุภาพ สะอาด สามัคคี มีน้ำใจ พบว่า แนวคิดของเรื่องที่ส่งเสริมในเรื่องความซื่อสัตย์ ไม่ปรากฏในหนังสือคัดสรรทั้งหนังสือของไทยและหนังสือแปล
ในส่วนของตัวละคร มีทั้งเรื่องที่ใช้ตัวละครเป็นคนทั้งหมด สัตว์ทั้งหมด และทั้งคนทั้งสัตว์ในเรื่องเดียวกัน กรณีที่ใช้สัตว์เป็นตัวละคร ส่วนใหญ่ใช้ในลักษณะภาพแทน (representation) คือมีพฤติกรรมและการกระทำแบบเดียวกับมนุษย์ หนังสือที่มีทั้งคนและสัตว์ในเรื่องเดียว ผู้เขียนจะให้คนตัวเอกของเรื่อง
ส่วนเพศของตัวละครหลัก (main character) ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย (ร้อยละ 38.0) แต่มีข้อแตกต่าง คือ กรณีที่ใช้คนเป็นตัวละครทั้งหมดในเรื่อง ส่วนใหญ่ตัวเอกเป็นเด็กหญิงและเป็นเหตุการณ์/เรื่องราวระหว่างแม่-ลูก ส่วนหนังสือที่ใช้สัตว์เป็นตัวละครทั้งหมดหรือสัตว์กับคน ส่วนใหญ่ตัวเอกจะเป็นเพศชาย
ประเภทของสัตว์ที่เป็นตัวเอกมากที่สุดคือ หมี และ กระต่าย
ลักษณะของตัวละคร หนังสือภาพของไทยส่วนใหญ่นำเสนอแบบมิติเดียว (flat character) เช่น เป็นคนดีตั้งแต่ต้นจนจบ ส่วนหนังสือแปลส่วนใหญ่นำเสนอแบบหลายมิติ (round character) มากกว่า
รูปแบบการประพันธ์ ส่วนใหญ่เป็นร้อยแก้ว (ร้อยละ 64.8) ในลักษณะบุคคลที่สามเป็นผู้เล่าเรื่อง (third person omniscient narrator) (ร้อยละ 88.9) และส่วนหนึ่งมีบทสนทนาโต้ตอบระหว่างตัวละคร ส่วนหนังสือที่นำเสนอแต่ภาพโดยไม่มีตัวอักษรบนภาพเลยมี 2 เรื่อง
รูปเล่ม ส่วนใหญ่เป็นหนังสือปกอ่อน ขนาดสี่เหลี่ยมจัตุรัส จำนวน 24 หน้า ส่วนหนึ่งนำเสนอแบบหนังสือสองภาษา (ไทย-อังกฤษ) หนังสือบางเล่มมีการนำเทคนิคของการ์ตูนมาใช้ เช่น ใช้ลายเส้นแสดงการเคลื่อนไหว มีบอลลูน และใช้ตัวอักษรเพิ่มระดับความดังเสียง และบางเล่มมีการจัดรูปเล่มแบบพิเศษเพื่อดึงดูดความสนใจ
ส่วนราคาเฉลี่ย ตกเล่มละ 133 บาท (ราคาเฉลี่ย ปกอ่อน 81 บาท และปกแข็ง 168 บาท)

หนังสือภาพที่เปิด “หน้าต่างแห่งโอกาส” ในการพัฒนาเด็กปฐมวัย ของแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน เป็นตัวอย่างของ “หนังสือดี” ที่ผ่านการคัดสรรแล้วว่า ให้ความสุขและความสนุก พร้อมๆ ไปกับการปลูกฝังมิติในการพัฒนาเด็กอย่างเหมาะสมตามพัฒนาการของสมอง
อย่างไรก็ตาม มีข้อคิดเห็นบางประเด็นที่ควรพิจารณา
• ในหนังสือภาพสำหรับเด็ก มีประเด็น “หน้าต่างแห่งโอกาส” ในการพัฒนาเด็กปฐมวัยบางประเด็นที่ยังมีน้อย ได้แก่ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ (critical thinking) ทักษะการแก้ปัญหา (problem solving skill) การคิดถึงสังคมส่วนรวม (social concern) การส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ (creative development) และ การมีวินัย (self discipline) ในการส่งเสริมการผลิต เห็นควรพิจารณาเพิ่มเติมประเด็นดังกล่าวนี้เป็นพิเศษ
• ค่านิยมพื้นฐานที่ส่งเสริมในเรื่อง “ความซื่อสัตย์” ไม่มีปรากฏในหนังสือที่ได้รับการคัดสรร เป็นประเด็นที่ควรจะหยิบยกขึ้นมาในเวทีการพัฒนาเด็กทุกรูปแบบ รวมทั้งในการผลิตหนังสือสำหรับเด็กปฐมวัย (ประเด็นนี้เป็นประเด็นหนึ่งของ “หน้าต่างแห่งโอกาส” ในเรื่องการรู้จักถูก-ผิด ซึ่งควรปลูกฝังตั้งแต่ 3-5 ปี) พร้อมๆ ไปกับการสร้างองค์ความรู้ว่าด้วยศิลปะวิธีในการสื่อสารเพื่อปลูกฝังคุณงามความดีในเรื่องนี้อย่างน้อยที่สุดก็จะทำให้การจับมือกันของภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ในการประกาศเจตนารมณ์ต้านทุจริตพิชิตคอร์รัปชั่น ในการเปิดการประชุมนานาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ครั้งที่ 14 ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงเทพมหานครเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมานี้ ไม่เป็นไปในลักษณะ “ปากว่าตาขยิบ” และในเมื่อนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “เพราะการปราบปรามคอร์รัปชั่นนั้นเป็นงานที่หนักและบุคคลหนึ่งบุคคลใดไม่สามารถที่จะอ้างความสำเร็จได้โดยลำพัง สังคมจะต้องร่วมมือกันให้มากยิ่งขึ้น โดยจะต้องย้ำให้เห็นถึงสาระสำคัญว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นนั้นไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม และช่วยขับเคลื่อน 'วัฒนธรรมของการไม่อดทนต่อการทุจริต'” ก็จึงหวังว่าความซื่อสัตย์สุจริตจะเป็นวัฒนธรรมของสังคมไทยได้ สิ่งหนึ่งที่จะเป็นมรรควิถีคือหนังสือที่มีคุณภาพว่าด้วยการสร้างเสริมการเรียนรู้เรื่องความซื่อสัตย์ ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่ปฐมวัยกันเลยทีเดียว

ภาคขยาย - หนังสือภาพสำหรับเด็กกับบริบทของสังคมไทย
แนวคิดเชิงทฤษฎีและผลการวิจัยด้านพัฒนาการเด็กได้แสดงว่า ปัจจัยแวดล้อมและการเลี้ยงดูที่เหมาะสมสามารถเปลี่ยนลักษณะการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมองมนุษย์ได้ และช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาสมองคือช่วง 0-6 ปี
ช่วงปฐมวัยเป็นช่วงที่สมองของเด็กมีการพัฒนาสูงสุด โดยเฉพาะในช่วง 3-4 ปีแรกของชีวิต การเลี้ยงดูในบ้านจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดต่อพัฒนาการของเด็ก ดังนั้น กิจกรรมระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก หนังสือสำหรับเด็ก และสภาพการเลี้ยงดูในบ้านจึงเป็นปัจจัยแวดล้อมที่สำคัญ

“การสำรวจเด็กและเยาวชน พ.ศ.2551” โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ[†] สรุปว่า ทั่วประเทศมีเด็กเล็ก 0-5 ปี จำนวน 5.5 ล้านคน (ชาย 2.8 ล้านคน หญิง 2.7 ล้านคน) และการสำรวจครั้งนี้ได้มีการสำรวจการมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของสมาชิกในบ้านกับเด็กอายุ 0-5 ปี พบว่า “แม่” เป็นผู้มีส่วนร่วมในกิจกรรมทุกประเภทกับเด็กในสัดส่วนสูงสุด รองลงมาคือคนอื่นๆ ในครัวเรือน ส่วน “พ่อ” มีสัดส่วนต่ำสุดในทุกกิจกรรม
เมื่อพิจารณาเป็นรายกิจกรรม พบว่า กิจกรรมที่บุคคลในบ้านมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมกับเด็กมากที่สุดคือการเล่นร่วมกัน รองลงมาคือการพาเด็กไปนอกบ้าน ส่วนกิจกรรมที่ทำกับเด็กน้อยที่สุดคือการเล่านิทาน/เล่าเรื่องต่างๆ ให้เด็กฟัง

ส่วนการอ่านหนังสือให้เด็กฟังหรือดูหนังสือภาพร่วมกับเด็ก ก็มีสัดส่วนค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับกิจกรรมอื่น และประมาณ 1 ใน 4 ของเด็กเล็ก ไม่มีผู้ร่วมในกิจกรรมนี้ (ร้อยละ 26.2)
การสำรวจครั้งเดียวกันนี้ มีการสำรวจจำนวนหนังสือสำหรับเด็กที่มีอยู่ในบ้าน ซึ่งกำหนดให้มีอย่างน้อย 3 เล่ม (หนึ่งในตัวชี้วัดด้านพัฒนาการของเด็กที่องค์การยูนิเซฟพัฒนาขึ้น) พบว่า เด็กเล็ก (0-5 ปี) อาศัยอยู่ในบ้านที่มีหนังสือสำหรับเด็กเพียงร้อยละ 40.7

ผลสำรวจเรื่อง “การอ่านหนังสือของคนไทย” ในปี 2551[‡] พบว่า เด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปีทั่วประเทศมีประมาณ 5.9 ล้านคน (ชาย 3.0 ล้านคน หญิง 2.9 ล้านคน) มีผู้ที่อ่านหนังสือเองหรือผู้ใหญ่อ่านหนังสือให้ฟัง (นอกเวลาเรียน) ประมาณ 2.1 ล้านคน หรือร้อยละ 36.0 ของจำนวนเด็กเล็กทั้งหมด
ในกลุ่มเด็กเล็กที่อ่านหนังสือหรือมีผู้ใหญ่อ่านให้ฟัง**นี้ อ่านสัปดาห์ละ 2-3 วัน มากที่สุด (ร้อยละ 39.6) และใช้เวลาในการอ่านเฉลี่ย 27 นาทีต่อวัน
ร้อยละ 70.7 ของเด็กเล็กที่อ่านหนังสือ มีผู้ใหญ่ซื้อหนังสือให้อ่านเพิ่มเติมจากตำราเรียนตามหลักสูตร และส่วนใหญ่มีค่าใช้จ่ายในการซื้อหนังสือให้เด็กเล็กเฉลี่ยไม่เกิน 200 บาทต่อเดือน (ร้อยละ 66.1)

จากข้อมูลการสำรวจของสำนักสถิติแห่งชาติ อาจสรุปได้ว่า ในสังคมไทย การใช้หนังสือเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยยังค่อนข้างน้อย ผู้ใหญ่อ่านหนังสือให้เด็กฟังมีเพียงร้อยละ 36.0 ของครอบครัวที่มีเด็กเล็ก และจำนวนหนังสือสำหรับเด็กที่มีในบ้านตามเกณฑ์ที่กำหนด (3 เล่ม) ก็มีเพียงร้อยละ 40.7
ส่วนใหญ่มักอ้างกันว่า การที่คนไทยอ่านหนังสือกันน้อย เพราะสังคมไทยเป็นสังคมมุขปาฐะ ใช้การสื่อสารด้วย “การพูด” เล่าเรื่องสู่กันฟังมากกว่า “การอ่าน” แต่เมื่อเทียบสัดส่วนระหว่าง การอ่านหนังสือหรือดูสมุดภาพร่วมกับเด็ก กับ การเล่านิทานหรือเล่าเรื่องต่างๆ ให้เด็กฟัง (โดยไม่ใช้หนังสือ) กลับพบว่า การอ่านหนังสือเป็นกิจกรรมที่สมาชิกทุกกลุ่มในบ้านทำร่วมกับเด็กมากกว่าการพูดเล่าเรื่องต่างๆ ให้เด็กฟัง
หลายหน่วยงานร่วมกันรณรงค์ให้คนไทยมีนิสัยรักการอ่าน โดยเฉพาะการเริ่มต้นตั้งแต่ระดับปฐมวัย หนังสือภาพสำหรับเด็กที่คัดสรรโดยแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ส่วนหนึ่งได้สอดแทรกอุดมการณ์นี้ลงในเนื้อหาของหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นข้อความหรือภาพของความเพลิดเพลินจากการอ่านหนังสือ (ร่วมกับพ่อแม่) อย่างไรก็ตาม การรณรงค์ให้ผู้ใหญ่อ่านหนังสือให้เด็กฟังเป็นกิจกรรมที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ใหญ่เห็นความสำคัญในการใช้หนังสือภาพเพื่อพัฒนาคุณภาพของเด็ก
หนังสือภาพสำหรับเด็กเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติการเพื่อเตรียมเด็กเข้าสู่สังคม (socializing agents) และมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวต่างจากสื่ออื่น กิจกรรมการอ่านกับตัวหนังสือที่ถูกอ่านมีความสัมพันธ์ระหว่างกัน กิจกรรมการอ่านสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้อ่าน (พ่อแม่ ผู้เลี้ยงดู) กับเด็ก ส่วนหนังสือที่ถูกอ่านมักมีแก่นเรื่องที่สะท้อนถึงการขัดเกลา (socialize) และเตรียมตัวเด็กเข้าสู่สังคมในอนาคต มีการสอดแทรกกติกา ค่านิยม ตลอดจนความสัมพันธ์กับสมาชิกคนอื่นๆ ในสังคม คุณลักษณะเช่นนี้เป็นสิ่งที่เด็กควรต้องรู้
หนังสือภาพสำหรับเด็กเขียนขึ้นโดยผู้ใหญ่ บนพื้นฐานเจตนาที่จะปลูกฝังคุณลักษณะบางอย่างให้กับเด็ก เพื่อเตรียมความพร้อมให้เด็กเข้าสู่สังคมในอนาคตได้อย่างราบรื่น การนำเสนอเนื้อหาและตัวละครจึงสะท้อนให้เห็นถึงค่านิยม ความคิด ความเชื่อของผู้ใหญ่ ภายใต้บริบทของสังคมนั้นๆ
หนังสือภาพสำหรับเด็กจึงมีนัยยะเป็น “บทเรียน” ในการปลูกฝัง ขัดเกลา (socialize) ให้เด็กรู้จักและเข้าใจสังคมรอบตัว และการอยู่ร่วมกันในสังคมนั้น นั่นเอง

จากการวิเคราะห์เนื้อหาหนังสือภาพที่ได้รับการคัดสรรจากแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สรุป ความเป็น “บทเรียน” ในการเตรียมความพร้อมให้เด็กอย่างกว้างๆ ได้ 2 ลักษณะ คือ ส่วนหนึ่งให้เด็กรู้จักและเข้าใจตนเอง (ส่งเสริมพัฒนาการทางสติปัญญา/อารมณ์/สุขภาพร่างกาย) และอีกส่วนหนึ่ง ให้เด็กรู้จักและเข้าใจสังคมรอบตัว (ส่งเสริมทักษะ/พัฒนาการทางสังคม) ซึ่งทั้งสองส่วนโยงใยสัมพันธ์กัน ภายใต้บริบททางสังคม (ของผู้เขียน)
ลักษณะเด่นของสังคมไทย คือ เป็นสังคมที่มีน้ำใจต่อกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และมีความเอื้ออาทรต่อกันและกัน เนื้อหาของหนังสือที่แต่งโดยคนไทยจึงมีแนวคิด (แก่นเรื่อง) ในเรื่องความมีน้ำใจมากที่สุด สะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมของผู้เขียน (คนไทย) ที่ต้องการปลูกฝังและขัดเกลาเด็กตามค่านิยมของสังคม เมื่อพิจารณาในประเด็น “หน้าต่างแห่งโอกาส” (windows of opportunity) ก็พบว่า หนังสือที่แต่งโดยคนไทยมีประเด็นในเรื่องการสร้างความผูกพันมากกว่าประเด็นอื่นๆ
ความมีน้ำใจและการสร้างความผูกพัน เป็นฐานของสังคมระบบอุปถัมภ์นั่นเอง?!

นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ มุ่งพัฒนาเด็กให้มีคุณธรรมพื้นฐาน 8 ประการ คือ ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย สุภาพ สะอาด สามัคคี และมีน้ำใจ จากการวิเคราะห์เนื้อหาของหนังสือคัดสรร พบว่า ไม่ปรากฏแก่นเรื่อง (theme) ในการส่งเสริมเรื่องความซื่อสัตย์ ทั้งหนังสือของไทยและหนังสือแปล
สอดคล้องกับการวิเคราะห์หนังสือเด็กที่ได้รับรางวัลหนังสือดีเด่นจากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ในช่วง 10 ปี (2543-2552)[§] ก็พบเช่นเดียวกันว่า เนื้อหาของหนังสือรางวัลทั้งของกลุ่มอายุ 3-5 ปี และ 6-11 ปี ไม่มีแก่นเรื่อง/แนวคิดที่มุ่งส่งเสริมในเรื่องความซื่อสัตย์ ประเด็นที่พบมากที่สุดในหนังสือทั้งสองกลุ่ม คือ ความมีน้ำใจ เช่นเดียวกันกับหนังสือคัดสรรของแผนงานฯ
การปลูกฝังให้เด็กรู้จักถูก-ผิด ไม่ควรหยิบฉวยของผู้อื่นมาเป็นของตน ไม่พูดโกหก เป็นประเด็นหนึ่งใน “หน้าต่างแห่งโอกาส” ที่ควรปลูกฝังตั้งแต่ในช่วง 3-5 ปี และประเด็นนี้ก็คือพื้นฐานในเรื่องความซื่อสัตย์ ซึ่งควรส่งเสริมไปพร้อมๆ กับการปลูกฝังคุณธรรมด้านอื่นๆ

ลักษณะของตัวละครร่วมที่ปรากฏในหนังสือเด็ก ในส่วนที่เป็นสมาชิกของครอบครัว ส่วนมากปรากฏตัวละคร “แม่” มากกว่า “พ่อ” และภาพของแม่มักปรากฏในลักษณะแม่บ้าน เลี้ยงลูก ทำอาหาร ทำความสะอาดบ้าน ซักผ้ารีดผ้า สวมผ้ากันเปื้อน ส่วนภาพของพ่อคือผู้ออกทำงานนอกบ้าน ลูกต้อง “รอพ่อเลิกงาน หน้าบานวิ่งรี่ อุ้มหนูหน่อยซี ลูกนี้เฝ้าหา” (พ่อจ๊ะ พ่อจ๋า) ส่วนแม่คือผู้ที่อยู่กับลูกตลอดเวลา “แม่อยู่ดูแล แต่เช้าจนสาย ชวนเล่นตอนบ่าย ให้คลายความเหงา” (แม่จ๊ะ แม่จ๋า) สะท้อนบทบาทการเลี้ยงดูลูก ว่าถูกกำหนดให้ต้องเป็นหน้าที่ของเพศหญิง
หนังสือภาพของไทยบางส่วน นำเสนอเพียงตัวละครแม่-ลูกตลอดทั้งเรื่อง ซึ่งอาจตีความได้ว่าหน้าที่ในการดูแลเลี้ยงดูลูกเป็นหน้าที่หลักของแม่ พ่อไม่มีบทบาทหรือมีบทบาทน้อย แต่คงไม่ใช่ว่าลักษณะของครอบครัวเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว (single parent) ซึ่งแม้ว่าจะมีเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน
จากผลสำรวจของคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในปี 2551-2552 (นสพ.ไทยรัฐ 13 กันยายน 2553) ซึ่งสำรวจกลุ่มเด็กอายุ 1-5 ปี และ 6-14 ปี ใน 20 จังหวัด พบว่า ครอบครัวไทย ผู้เลี้ยงดูเด็กเป็นแม่ร้อยละ 63 รองลงมาเป็นปู่ย่าตายาย ร้อยละ 25 ส่วนพ่อมีเพียงร้อยละ 7
แสดงให้เห็นว่า สภาพความเป็นจริงทางสังคมสะท้อนออกมาในหนังสือภาพสำหรับเด็ก

ในการสำรวจครั้งเดียวกันระบุว่า “เด็กไทยเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง โดยพบว่า 1 ใน 3 ของเด็กอายุ 6-14 ปี เคยชกต่อยกันในโรงเรียน เคยถูกขโมยของหรือทำลายข้าวของในโรงเรียน ทำให้เด็กบางส่วนไม่อยากไปโรงเรียนเนื่องจากรู้สึกว่าไม่ปลอดภัย”
จากการวิเคราะห์ประเด็น “หน้าต่างแห่งโอกาส” ในหนังสือคัดสรร มีข้อน่าสังเกตที่พบว่า หนังสือที่แต่งโดยคนไทย ไม่มีการนำเสนอในประเด็น “ไม่ใช้ความรุนแรง” หนังสือของไทยส่งเสริมในเรื่อง “ความสุภาพ” ซึ่งเป็นหนึ่งในคุณธรรมพื้นฐาน 8 ประการตามแนวทางของกระทรวงศึกษาธิการ แต่เป็นลักษณะความสุภาพด้วยการใช้คำพูด (เช่น พูดมีหางเสียงครับ/ค่ะ หรือทักทายด้วยการยกมือไหว้สวัสดีกับผู้ใหญ่ เป็นต้น) อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมที่ไม่ใช้ความรุนแรง พบในกลุ่มของหนังสือแปล
หากมองในแง่บริบททางวัฒนธรรม สังคมไทยให้ความสำคัญกับลำดับชั้นทางสังคม มีระบบอาวุโสสูง-ต่ำ จึงสะท้อนความสุภาพอ่อนน้อมมีสัมมาคารวะออกมาทางหนังสือภาพ ส่วนสังคมของผู้เขียนหนังสือที่นำมาแปล ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมกันทางสังคม ลักษณะของความสุภาพจึงสื่อออกมาด้วยการไม่ใช้ความรุนแรงหรือไม่ไปทำร้ายผู้อื่น

ในบริบทด้านวัฒนธรรมและวิถีไทย หนังสือภาพของไทยส่วนหนึ่งส่งเสริมให้ภาคภูมิใจกับภูมิปัญญาไทย นำเสนอภาพของการละเล่นแบบไทยๆ ในสมัยก่อน ภาพของขนมไทย วัสดุของใช้ที่เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้าน และภาพชีวิตในท้องทุ่งท้องนา ซึ่งเป็นวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของไทย ส่งเสริมให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ความเป็นไทย
อนึ่ง ข้อสังเกตเกี่ยวกับหนังสือภาพสำหรับเด็กที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตแบบไทยๆ เหล่านี้ ล้วนนำเสนอในรูปของร้อยกรองทั้งสิ้น

หนังสือภาพสำหรับเด็กปฐมวัย จึงสะท้อนภาพของสังคมให้เด็กได้รู้จักและเข้าใจ “โลก” หรือสังคมรอบตัว เมื่อเด็กได้อ่านได้ฟังเรื่องราวจากหนังสือ ย่อมได้รับอิทธิพลต่างๆ จากหนังสือไม่ทางตรงก็ทางอ้อม การได้สัมผัสเรื่องราวจากหนังสือภาพดีๆ จะซึมซาบและฝังแน่นอยู่ในตัวเด็ก ก่อเกิดคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของสังคม ประโยชน์ที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลต่อสังคมในภาพรวม
ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับพ่อแม่ ผู้เลี้ยงดู ชุมชน สังคม ภาครัฐ ว่าจะสร้าง “โอกาส” ให้เด็กได้รับเรื่องราวเหล่านั้นมากน้อยเพียงใด
ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับนักเขียนเรื่อง เขียนรูป บรรณาธิการ สำนักพิมพ์ ว่าจะสร้าง “โอกาส” ให้เด็กได้รับเรื่องราวอย่างไร ด้วยเหตุผลใด
ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับภาครัฐที่จะสร้าง “โอกาส” ให้เด็กด้วยนโยบายและปฏิบัติการอย่างจริงจังที่จะส่งเสริมให้กระบวนการสร้างหนังสือเป็นแหล่งผลิตภูมิปัญญาของชาติ และมุ่งมั่นส่งเสริมการอ่านให้เป็นวัฒนธรรมของชาติให้จงได้

********************

[*] ประเด็น “หน้าต่างแห่งโอกาส” 1.สร้างความผูกพัน 2.ความไว้วางใจผู้อื่น 3.การรู้จักถูกผิด 4.การรู้จักช่วยเหลือและพึ่งพาตัวเอง 5.ทักษะด้านความปลอดภัย 6.การควบคุมอารมณ์ตัวเอง 7.การมีแรงจูงใจภายใน 8.กระบวนการเรียนรู้แบบสืบค้น 9.ทักษะการติดต่อสื่อสารและสร้างสัมพันธภาพระหว่างบุคคล 10.การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน 11.ส่งเสริมจินตนาการ 12.การใช้ภาษา/การนับจำนวน 13.ประหยัด 14.มีวินัย 15.การคิดอย่างมีวิจารณญาณ 16.ความภูมิใจในคุณค่าของตัวเอง 17.การเห็นคุณค่าความแตกต่าง 18.การคิดถึงสังคมส่วนรวม 19.ทักษะการแก้ปัญหา 20.ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์[†] สำนักงานสถิติแห่งชาติ ทำการสำรวจในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2551 จากครัวเรือนตัวอย่าง 59,000 ครัวเรือน เป็นการสำรวจกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุตั้งแต่ 0-24 ปี โดยแยกรายละเอียดเป็น 4 กลุ่มอายุ คือ 0-5 ปี, 6-11 ปี, 12-17 ปี และ 18-24 ปี และให้นิยามว่า “เด็ก” คือผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปี ส่วน “เยาวชน” คือผู้ที่อายุ 18-24 ปี[‡] การสำรวจการอ่านหนังสือของประชากร พ.ศ.2551 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ทำการสำรวจในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2551 จากครัวเรือนตัวอย่าง 53,040 ครัวเรือน มีการสำรวจเป็น 2 กลุ่ม คือ การอ่านหนังสือของเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปี และการอ่านหนังสือของผู้ที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไป** เด็กเล็กที่อ่านหนังสือเกือบทั้งหมด (ร้อยละ 98.9) มีผู้ปกครองอ่านหนังสือให้ฟัง และมีร้อยละ 1.1 ที่เด็กอ่านด้วยตัวเองโดยไม่มีผู้ปกครองอ่านหนังสือให้ฟัง[§] บทวิเคราะห์หนังสือที่ได้รับรางวัลหนังสือดีเด่น ปี 2543-2552 ประเภทหนังสือสำหรับเด็ก 3-5 ปี และ 6-11 ปี ใน “รายงานผลการวิจัย เรื่อง สภาพการณ์หนังสือเด็ก กลุ่มอายุ 0-6 ปี และ 6-12 ปี” แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชน (สสย) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตุลาคม 2552


เอกสารเพื่อการประชุมสัมมนาสาธารณะเรื่อง ปฏิรูปจิตสำนึกเด็กไทยด้วยหนังสือ “เล่มใหม่” วันที่ 5 มกราคม 2554 ณ โรงแรมรอยัลริเวอร์ โดยแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ดำเนินการวิจัยและเรียบเรียงโดย
อาจารย์พิรุณ อนวัชศิริวงศ์ ศูนย์พัฒนานวัตกรรมการอ่าน
รศ. ถิรนันท์ อนวัชศิริวงศ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยการสนับสนุนของ แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)