วันเสาร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

แพทย์วิจัยพบ “การอ่าน” คลายเครียดได้ดีที่สุด


อ่านหนังสือเพียง นาที สามารถลดระดับความเครียดลงได้ถึงร้อยละ 68 นักวิจัยพบว่า การอ่านหนังสืออยู่เงียบๆ คนเดียวทำให้อัตราการเต้นของหัวใจช้าลงและบรรเทาความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ การอ่านยังมีประสิทธิผลมากกว่ากิจกรรม ผ่อนคลาย” แบบอื่นๆ ที่นิยมกัน


การอ่านเป็นวิธีช่วยผ่อนคลายความเครียดได้ดีที่สุด และอ่านหนังสือเพียง 6 นาที ก็สามารถลดระดับความเครียดได้มากกว่า 2 ใน 3”
คำบอกกล่าวและผลการวิจัยนี้ได้เผยแพร่ในวงกว้าง ในหนังสือพิมพ์เทเลกราฟ ฉบับวันที่ 30 มีนาคม 2009 อ้างถึงงานวิจัยของมหาวิทยาลัยซัสเซกซ์ (University of Sussex) ประเทศอังกฤษ
การวิจัยดังกล่าวนี้ พบว่า การอ่านหนังสือช่วยให้ประสาทที่เหนื่อยล้าสงบลงได้ ดีกว่าและเร็วกว่าการผ่อนคลายด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การฟังดนตรี การเดินเล่น หรือการนั่งจิบชา
นักจิตวิทยา-นักประสาทวิทยา อธิบายว่า นี่เป็นเพราะ จิต” (mind) ของมนุษย์ต้องมุ่งสมาธิเพื่อการอ่าน และการเบนอารมณ์ไปกับโลกของตัวอักษร ช่วยลดความตึงเครียดของกล้ามเนื้อและหัวใจได้
การวิจัยนี้ทดลองกับกลุ่มอาสาสมัคร โดยมีสถาบันมายด์แล็บอินเตอร์เนชั่นแนล แห่งมหาวิทยาลัยซัสเซกซ์ เป็นที่ปรึกษา คัดเลือกกลุ่มอาสาสมัครที่มีระดับความเครียดและอัตราการเต้นของหัวใจที่อยู่ในระดับสูงอยู่ตลอดเวลามาเป็นกลุ่มทดลอง โดยให้กลุ่มอาสาสมัครทดสอบด้วยวิธีการต่างๆ ได้แก่ อ่านหนังสือ ฟังดนตรี เดินเล่น นั่งจิบชา เล่นวีดิโอเกม จากนั้นก็นำแต่ละคนไปตรวจวัดระดับความเครียดด้วยวิธีการทางการแพทย์
นี่คือรายงานของคณะแพทย์ทางประสาทวิทยาผู้วิจัย
การอ่านหนังสือ ให้ผลดีที่สุด คือลดระดับความเครียดได้ถึงร้อยละ 68”
คำอธิบายขยายความในทางการแพทย์ มีดังนี้
สิ่งที่เราพบคือ ต้อง อ่านในที่เงียบๆ และใช้เวลา 6 นาที จะช่วยให้อัตราการเต้นของหัวใจค่อยๆ ช้าลง และช่วยคลายความตึงตัวของประสาทและกล้ามเนื้อ ซึ่งก็คือระดับความเครียดของพวกเขาลดต่ำลงกว่าตอนที่พวกเขาเริ่มต้น
ส่วนกิจกรรมอื่นๆ ได้ผลต่างออกไป ได้แก่
การฟังดนตรี ลดระดับความเครียดได้ร้อยละ 61
การนั่งจิบชา ความเครียดลดลงได้ร้อยละ 54
การเดินเล่น ลดระดับความเครียดลงได้ร้อยละ 42
ส่วน การเล่นวีดิโอเกม ทำให้ระดับความเครียดลดลงได้ร้อยละ 21 แต่อาสาสมัครมีอัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้นกว่าตอนที่พวกเขาเริ่มต้น
นพ. เดวิด เลวิส หัวหน้าคณะผู้วิจัย ย้ำข้อสรุปที่ได้ว่า การปล่อยอารมณ์ไปกับการอ่านหนังสือ เป็นวิธีช่วยผ่อนคลายที่ได้ผลสูงสุดทั้งนี้อาจเป็นเพราะ ในยุคเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน เราต่างก็อยากจะหลบเลี่ยงไปที่ใดสักแห่ง
ที่ว่า อ่านต้องอ่านหนังสืออะไรเป็นพิเศษหรืออย่างไร ?
คุณหมอนักประสาทวิทยาทางสมองบอกว่า ไม่สำคัญว่าคุณจะอ่านหนังสืออะไร แต่การปล่อยตัวเองเข้าไปสนใจเรื่องราวในหนังสืออย่างดื่มด่ำ สามารถช่วยให้คุณหลบหนีจากความกังวลและความเครียดในชีวิตประจำวันได้แล้ว และใช้ช่วงเวลาชั่วขณะนั้นสำรวจสิ่งที่เป็นจินตนาการของผู้เขียน
ย้ำกันอีกครั้ง อ่านหนังสือเพียง 6 นาที สามารถลดระดับความเครียดลงได้ถึงร้อยละ 68 นักวิจัยพบว่า การอ่านหนังสืออยู่เงียบๆ คนเดียวทำให้อัตราการเต้นของหัวใจช้าลงและบรรเทาความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ การอ่านยังมีประสิทธิผลมากกว่ากิจกรรม ผ่อนคลายแบบอื่นๆ ที่นิยมกัน เช่น การฟังดนตรี หรือการนั่งจิบชา
นั่นเพราะ การอ่านจะพาเราเข้าไปสนใจเรื่องราวในหนังสือ เมื่อจดจ่ออยู่ในนั้นคุณก็สามารถจะหนีไปจากความกังวลและความเครียดได้ มากไปกว่านั้นคุณก็จะได้ท่องไปกับสิ่งที่เป็นจินตนาการที่ปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มนั้น ความเพลิดเพลินที่ได้พลิกพลิ้วไปกับอารมณ์ต่างๆ ในเรื่อง จะนำพาอะไรๆ มาให้ผู้อ่านได้อีกไม่น้อย
หัวหน้าคณะผู้วิจัยอธิบายว่า
นี่ไม่ใช่แค่การเบนความสนใจเท่านั้น แต่การเข้าไปในจินตนาการของถ้อยคำที่พิมพ์อยู่บนหน้ากระดาษ จะช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ของคุณ และทำให้จิตใต้สำนึกของคุณสร้างทางเลือกใหม่ขึ้นมา
เช่นนี้แล้ว หากเป็นวรรณกรรมชั้นดี บันเทิงคดีที่ลึกซึ้งด้วยคุณค่าสถิตย์ จะยิ่งโน้มนำให้ผู้อ่านไปได้อีกหลายชั้นหลายเชิง ทำให้ผู้อ่านได้ เคี้ยวเอื้องตัวหนังสือที่สานร้อยถ้อยกระทงความด้วยกระแสความคิด จินตนาการ จิตวิญญาณ
การวิจัยของคณะแพทย์ทางประสาทวิทยากลุ่มนี้ ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทกาแล็กซี่ (บริษัทผลิตภัณฑ์ประเภทช็อคโกแลต) ภายหลังจากรายงานผลการวิจัยออกมา 6 เดือน บริษัทกาแล็กซี่ ก็ได้ประกาศรณรงค์ครั้งใหญ่ให้ลูกค้าได้อ่านหนังสืออย่างถ้วนทั่วหน้า ด้วยการแจกหนังสือฟรี 1 ล้านเล่ม ทั่วสหราชอาณาจักร ใครจะเอาไอเดียนี้ไปใช้ สมควรได้รับอนุโมทนาจากชาวประชาผู้ (อยากให้คน) รักการอ่านทั้งหลาย
อ่านหนังสือไม่เพียงทำให้เราได้พักใจ ทำให้รู้สึกผ่อนคลายได้เท่านั้น ความสุขจากหนังสือยังมีผลช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินชีวิต เพิ่มพฤติกรรมสุขภาพที่ดีได้อีกด้วย ดังนั้น ลดความเครียดด้วยการอ่านและทำอารมณ์ให้แจ่มใสในทุกๆ วันด้วยหนังสือเล่มใหม่ๆ ที่ชวนให้เพลิดเพลินจำเริญใจ

บทความโดย ถิรนันท์ อนวัชศิริวงศ์ และพิรุณ อนวัชศิริวงศ์
ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมการอ่าน
เนื้อหาจากเว็บไซต์ https://readercenter2020.wixsite.com/readersquare


อ่านเพื่อความเพลิดเพลิน สุดยอดของการพัฒนาสมอง



การอ่านเพื่อความเพลิดเพลิน สำคัญที่สุดต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็ก มากกว่าฐานะทางเศรษฐกิจและสถานภาพทางสังคมนี่คือข้อสรุปจากผลการวิจัยเรื่องการอ่านของประเทศอังกฤษ งานวิจัยนี้นำไปสู่ข้อเสนอแนะว่า ขอให้ผู้ใหญ่ใช้เวลาเพียงวันละ 20 นาทีร่วมกับเด็กๆ ในการอ่านเรื่องที่ทำให้เขาเพลิดเพลิน จะให้ผลดีในทุกๆ ด้าน และจะเป็นบ่อเกิดของการสร้างนิสัยรักการอ่านที่น่าอัศจรรย์
เพราะเหตุใด การอ่านนั้นจึงต้องเป็น การอ่านเพื่อความเพลิดเพลิน
สมองจะทำงานได้ดีเมื่อเราอยู่ในภาวะที่ผ่อนคลายและไม่เครียด ปกติเมื่อสมองรับข้อมูลโดยผ่านทางประสาทสัมผัส (ตา หู จมูก ลิ้น ผิวกาย) ข้อมูลเหล่านั้นจะเข้าไปที่ก้านสมองก่อน จากนั้นจึงถูกส่งไปที่ธาลามัส (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสมองชั้นนอก) เพื่อแยกข้อมูลข่าวสาร ก่อนที่จะส่งไปส่วนอื่นๆ เช่นเมื่อเวลาเราอ่านหนังสือ ธาลามัสจะส่งข้อมูลไปยังเปลือกหุ้มสมองหรือซีรีบรัล คอร์เท็กซ์ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเห็น ซีรีบรัล คอร์เท็กจะแยกแยะว่าจะทำอย่างไรกับข้อมูล เก็บไว้ชั่วคราวหรือส่งต่อไปเก็บไว้ที่หน่วยความจำถาวร การถ่ายทอดข้อมูลจะขึ้นอยู่กับภาวะอารมณ์ในขณะนั้นด้วย
การอ่านนิทาน การ์ตูน หรือหนังสือที่เพลิดเพลินชวนติดตาม นอกจากสร้างความบันเทิงให้กับผู้อ่านแล้วยังเป็นตัวเชื่อมไปสู่การอ่านหนังสือแนวอื่นๆ ในเวลาต่อไปด้วย
ผู้ทรงคุณวุฒิด้านพัฒนาการของสมอง ได้เปิดมิติความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกที่เกิดขึ้นในสมอง ว่าการนำข้อมูลทุกชนิดเข้าสู่สมอง ถ้าผ่านอารมณ์ความรู้สึก ฮิปโปแคมปัส (hippocampus) ซึ่งเป็นสมองส่วนความจำ จะส่งความรู้ทั้งหมดเข้าสู่ระบบความจำถาวรของสมอง ถ้าไม่มีอารมณ์มากำกับการเรียนรู้ หรือไม่เกิดความรู้สึกร่วม สมองส่วนที่เรียกว่า อมิกดาลา (amygdala) ซึ่งเป็นส่วนที่ก่อให้เกิดอารมณ์ต่างๆ ที่อยู่ใกล้กับฮิปโปแคมปัส ก็จะไม่ส่งสัญญาณไปยังฮิปโปแคมปัส แต่จะย้ายข้อมูลนี้ไปสู่หน่วยความจำชั่วคราว ซึ่งมีระยะเวลาที่คงอยู่ในสมองประมาณ 7-8 นาที จนถึง 3 วัน แล้วจึงถูกลบ
หากข้อมูลนั้นน่าตื่นเต้น สนุก กระทบใจ อมิกดาลาจะส่งสัญญาณไปยังฮิปโปแคมปัสซึ่งจะแปลข้อมูลนี้ว่ามีความสำคัญ ฮิปโปแคมปัสก็จะส่งข้อมูลไปยังพื้นผิวสมองหรือคอร์เท็กซ์ ซึ่งเป็นสมองส่วนคิด และบันทึกเป็นความจำถาวร กลายเป็นคลังข้อมูลในสมองต่อไป
ด้วยหลักการทำงานของสมองดังกล่าว การเรียนรู้ที่ไม่ผ่านอารมณ์ ก็จะไม่ช่วยให้สมองเกิดการพัฒนาเท่าที่ควร
การอ่านที่สร้างความพึงพอใจ ทำให้รู้สึกอิ่มเอมใจ จะทำให้เด็กจดจำสิ่งที่ได้เรียนรู้ได้นาน
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว หากเราเอาอะไร ดีๆใส่เข้าไปในหนังสือสำหรับเด็กอย่างแยบยล เด็กๆ จะเรียนรู้ได้น่าอัศจรรย์สักเพียงใด?
และที่สำคัญก็คือหลักการของ emotional brain กล่าวคือ อารมณ์ความรู้สึกมีบทบาทอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนการเรียนรู้ และยังมีความพิเศษยิ่งไปกว่านั้นก็คือ สมองของเรานั้นเรียนรู้ได้อย่างไม่มีขีดจำกัด (unlimited learning)
ยิ่งเมื่อได้เรียนรู้ด้วยความเพลิดเพลิน ก็ยิ่งรู้ว่าโลกแห่งการเรียนรู้นั้นกว้างใหญ่ไพศาล หนังสือที่ก่อให้เกิดความเพลิดเพลินจึงเป็นการเปิดประตูสู่จักรวาลแห่งการเรียนรู้ที่ไร้ขอบเขต

บทความโดย ถิรนันท์ อนวัชศิริวงศ์
ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมการอ่าน
เนื้อหาจากเว็บไซต์ https://readercenter2020.wixsite.com/readersquare


วันพฤหัสบดีที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2554

แก่นสาระและสุนทรียภาพหนังสือเด็กปฐมวัย:
จาก ๑๐๘ หนังสือดีสู่เวทีปฏิรูปจิตสำนึกเด็กไทยด้วยหนังสือ “เล่มใหม่”
เอกสารประกอบการนำเสนองานวิจัย เรื่อง “การวิเคราะห์แก่นสาระและสุนทรียภาพหนังสือเด็กปฐมวัย: จาก ๑๐๘ หนังสือดีของแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน”
โดย อาจารย์พิรุณ อนวัชศิริวงศ์ ศูนย์พัฒนานวัตกรรมการอ่าน
รศ.ถิรนันท์ อนวัชศิริวงศ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ประกอบด้วยบทความวิจัย 2 ภาค ได้แก่
ภาคแรก แก่นสาระของหนังสือเด็กสู่ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปจิตสำนึกสังคมไทย
ภาคขยาย หนังสือภาพสำหรับเด็กกับบริบทของสังคมไทย


ภาคแรก - แก่นสาระของหนังสือเด็กสู่ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปสังคมไทย

หลักการและเหตุผล
หนังสือภาพสำหรับเด็กปฐมวัย เป็นสื่อสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดพัฒนาการทางด้านต่างๆ ของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นสติปัญญา ภาษา และจินตนาการ นอกเหนือจากความเพลิดเพลินที่ได้รับจากการอ่านหรือฟังผู้ใหญ่อ่านให้ฟังแล้ว หนังสือภาพยังช่วยให้เด็กเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับสิ่งแวดล้อมรอบตัว เพราะหนังสือภาพนอกจากจะนำเสนอแก่นสาระซึ่งเป็นประเด็นในการพัฒนาเด็ก ได้แก่ การช่วยเหลือตนเอง การรู้จักถูกผิด รู้จักอดทนอดกลั้น ฯลฯ ซึ่งเป็นทักษะการดำรงชีวิตหรือค่านิยมที่พึงสร้างเสริมแล้ว ยังเป็น “บทเรียน” สำหรับเด็กในการเตรียมความพร้อมสู่สังคมที่กว้างขึ้น
การนำเสนอประเด็นหรือแก่นสารต่างๆ ด้วยศิลปะวิธีที่แยบยล จากภาพและภาษา ในหลายลักษณะเพื่อให้การสื่อสารเหมาะสมกับเด็กปฐมวัยในช่วงต่างๆ เช่น ช่วงปฐมวัยตอนต้น ช่วงปฐมวัยตอนกลาง หรือช่วงก่อนเข้าสู่ระดับประถมศึกษา เพื่อเตรียมพร้อมให้เด็กให้เป็นสมาชิกที่มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของสังคม
การทำความเข้าใจหนังสือภาพสำหรับเด็ก โดยผ่านการวิเคราะห์ในด้านแก่นสาระและสุนทรียภาพ โดยอาศัยแนวคิดด้านพัฒนาการเด็ก โดยเฉพาะยิ่งกรอบความคิดเกี่ยวกับ “หน้าต่างแห่งโอกาส” (windows of opportunity) ซึ่งมีความสัมพันธ์กับพัฒนาการของสมองสำหรับเด็กปฐมวัย มีความสำคัญมาก จะทำให้เข้าใจถึงแก่นสารที่นำเสนอ การออกแบบภาพ การใช้ภาษา และอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างเพลิดเพลินแก่เด็ก ฯลฯ ผลที่ได้ย่อมนำมาสู่ความเชื่อมโยงกับคุณค่าที่พึงประสงค์ในการปลูกฝังให้แก่เด็ก ภายใต้บริบทของสังคมและวัฒนธรรม
แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มุ่งหวังให้การอ่านเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญในสังคมไทย และให้ความสำคัญกับคุณค่าของ “สาร” หรือ “เนื้อหาสาระ” ที่ต้องการสื่อถึงเด็ก ด้วยเชื่อว่าการปลูกฝัง “การอ่าน” ในวัยแรกเริ่มของชีวิตจะทำให้การอ่านยั่งยืนไปพร้อมๆ กับการหล่อหลอมบุคลากรที่มีคุณภาพของสังคม จึงได้คัดสรรหนังสือดีสำหรับเด็กปฐมวัย โดยคณะกรรมการซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ โดยในการดำเนินการขั้นสุดท้ายคัดเลือกได้ 108 เล่ม
แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านจึงเห็นควรให้มีการศึกษาวิเคราะห์ แก่นสาระและสุนทรียภาพหนังสือเด็กปฐมวัย จาก 108 เล่มหนังสือดี ที่แผนงานฯ ได้คัดสรรไว้แล้ว เพื่อจักได้ขยายผลสู่การพัฒนาวัฒนธรรมการอ่านและกระทั่งปฏิรูปสังคมไทยต่อไป

สังเขปผลการศึกษา
แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ได้คัดสรรหนังสือดีสำหรับเด็กปฐมวัย จำนวน 108 เล่ม เป็นหนังสือภาพของไทย 67 เรื่อง (ร้อยละ 62) และหนังสือแปล 41 เรื่อง (ร้อยละ 38) จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ 21 แห่ง (17 กลุ่มบริษัท)
การจัดแบ่งหนังสือตามระดับอายุ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มอายุ 0-2, 1-3, 3-5 และ 4-6 ปี เป็นหนังสือในกลุ่ม 4-6 ปี จำนวนมากที่สุด (ร้อยละ 43.5) และหนังสือในกลุ่ม 0-2 ปี มีจำนวนน้อย (ร้อยละ 7.4) ส่วนหนังสือในกลุ่ม 1-3 ปี และ 3-5 ปี มีจำนวนใกล้เคียงกัน (ร้อยละ 25.9 และ 23.2 ตามลำดับ)
ในกลุ่มอายุ 0-2 ปี ไม่มีหนังสือแปล ส่วนกลุ่มอื่นๆ มีทั้งหนังสือภาพของไทยและหนังสือแปล และเกินกว่าครึ่งหนึ่งของหนังสือแปลเป็นหนังสือในกลุ่ม 4-6 ปี
การคัดสรรหนังสือใช้กรอบแนวคิด “หน้าต่างแห่งโอกาส” ในการพัฒนาเด็กปฐมวัย

กรอบความคิด “หน้าต่างแห่งโอกาส” : โอกาสในการพัฒนาเด็ก
การที่คนจะพัฒนาจากทารกกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ธรรมชาติได้กำหนดขั้นตอนไว้เป็นขั้นๆ ความสำเร็จของขั้นต้นๆ จะเป็นฐานสำหรับขั้นต่อไป โดยในช่วงแรกธรรมชาติได้กำหนดให้เป็นช่วงของการพัฒนาทักษะพื้นฐานในการมีชีวิตรอด และใช้เป็นต้นทุนสำหรับพัฒนาศักยภาพในช่วงต่อๆ ไป
การพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ให้มีความสามารถเต็มที่นั้นจึงต้องเดินตามสิ่งที่ธรรมชาติกำหนดไว้ สิ่งนี้เรียกว่า “หน้าต่างแห่งโอกาส” (windows of opportunity)
“หน้าต่างแห่งโอกาส” (windows of opportunity) คือ ช่วงเวลาที่สมองเปิดรับการเรียนรู้ได้ดีที่สุด นักจิตวิทยาเด็กนำแนวคิดนี้มาบูรณาการกับพัฒนาการตามช่วงวัยของเด็ก ถือว่า เป็นโอกาสที่ธรรมชาติมอบให้ ว่าช่วงใดเหมาะสมกับการพัฒนาคุณสมบัติอะไร แต่ละเรื่อง ธรรมชาติได้กำหนดระยะเวลาไว้ให้ หากพ้นช่วงที่ธรรมชาติกำหนดไปแล้ว การพัฒนาก็อาจเกิดขึ้นได้ยาก หรืออาจเป็นไปไม่ได้เลย
· เด็กวัย 0-2 ปี หน้าต่างแห่งโอกาสที่พ่อแม่ ผู้เลี้ยงดูเด็ก สามารถเสริมสร้างให้แก่เด็กในวัยนี้มี 2 ข้อ คือ สร้างความผูกพัน และ ความไว้วางใจผู้อื่น คุณสมบัติทั้งสองประการนี้เป็นคุณสมบัติพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ หากเด็กขาดคุณสมบัติทั้งสองข้อนี้ เมื่อโตขึ้นอาจทำให้ไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่มั่นคงกับผู้อื่นได้
· เด็กวัย 3-5 ปี หน้าต่างแห่งโอกาสที่พ่อแม่ ผู้เลี้ยงดูเด็ก สามารถเสริมสร้างให้แก่เด็กวัยนี้มี 2 ข้อ คือ การรู้จักถูกผิด และ การควบคุมอารมณ์ตัวเอง วัย 3-5 ปี หรือวัยอนุบาลเป็นวัยที่เด็กรู้จักความรู้สึกถูกผิดได้ดี ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่พ่อแม่ ผู้เลี้ยงดูเด็ก จะสอนให้รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ถูก ควรนำไปปฏิบัติ เช่น การรู้จักแบ่งปัน เป็นต้น และอะไรคือสิ่งที่ผิด ไม่ควรปฏิบัติ เช่น ไม่หยิบของผู้อื่น ไม่ทำร้ายผู้อื่น หรือการทะเลาะกับเพื่อนแล้วใช้ความรุนแรง เป็นต้น เด็กวัยนี้เมื่ออยากได้สิ่งของต่างๆ ก็แสดงออกด้วยอารมณ์ ต้องเอาให้ได้ดังใจ จึงควรทำให้เด็กเรียนรู้การควบคุมตัวเอง ควบคุมความโกรธ ความอยากได้ รู้จักรอคอย ในระยะนี้ เรื่องสอนใจให้รู้ว่าอะไรผิด-ถูก ควร-ไม่ควร นับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่เด็กควรจะมีโอกาสได้เรียนรู้ มิฉะนั้นอาจเกิดผลที่ไม่พึงประสงค์ต่อพัฒนาการของเด็กในระยะต่อไป
· เด็กวัย 6-9 ปี หน้าต่างแห่งโอกาสที่ผู้ใหญ่สามารถเสริมสร้างให้แก่เด็กวัยนี้มี 3 เรื่องได้แก่ การประหยัด มีวินัย และ ใฝ่รู้ พัฒนาการของเด็กในช่วงนี้มีความพร้อมที่จะเรียนรู้ในเรื่องของจำนวนเงิน การวางกำหนดกฎเกณฑ์ในเรื่องเวลาและรู้จักร่วมรับผิดชอบ และเปิดรับการเรียนรู้ที่หลากหลาย กระบวนการเรียนรู้ในช่วงวัยนี้จึงควรมีความยืดหยุ่น

หรือจำแนกเป็นพัฒนาการด้านต่างๆ ได้ดังนี้
“หน้าต่าง” “โอกาส” ในการสร้างวงจรของสมองความฉลาดทางอารมณ์ 0-48 เดือนความไว้วางใจ 0-14 เดือน
การควบคุมอารมณ์ 16-48 เดือน
พัฒนาการทางสังคม 0-48 เดือนสร้างความผูกพัน 0-12 เดือน
ความเป็นตัวของตัวเอง (เชื่อมั่น) 18-36 เดือน
การรู้จักร่วมมือทำงาน 24-48 เดือน
ทักษะการคิด 0-48 เดือนรู้จักเหตุ-รู้จักผล 0-16 เดือน
รู้จักแก้ปัญหา 16-48 เดือน
พัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว 0-24 เดือน
การมองเห็น 0-24 เดือน
ทักษะด้านการอ่าน* 0-24 เดือน

การฟังเสียงอ่านในช่วงแรกๆ 4-8 เดือน
คำศัพท์ 0-24 เดือน
*หมายเหตุ : สองสิ่งที่สามารถพยากรณ์ความสำเร็จในด้านการอ่านได้อย่างน่าเชื่อถือมากที่สุด คือ เด็กสามารถแยกความแตกต่างของเสียงได้ และขนาดของจำนวนคำศัพท์ใน “คลัง” เพิ่มขึ้น
จากการวิเคราะห์ประเด็นต่างๆ ในหนังสือ 108 เล่ม จำแนกแบ่งได้ 20 ประเด็น[*] ประเด็นที่พบมากที่สุดคือ การสร้างความผูกพัน (ร้อยละ 15.7) ส่วนประเด็นที่พบน้อย คือ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ ทักษะการแก้ปัญหา การคิดถึงสังคมส่วนรวม และส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ (ร้อยละ 1.9 เท่ากันทั้งสี่ประเด็น) และ การมีวินัย (ร้อยละ 1.4)
ประเด็นการสร้างความผูกพัน พบในหนังสือของทั้ง 4 กลุ่มอายุ
ในด้านเนื้อหา เป็นเรื่องการอยู่ร่วมกันในสังคมมากที่สุด (ร้อยละ 46.3) รองลงมาคือเรื่องเกี่ยวกับชีวิตในครอบครัว (ร้อยละ 23.2) ส่วนแนวคิดของเรื่อง (theme) มุ่งส่งเสริมให้เด็กมีความเชื่อมั่นในตัวเอง/รู้จักตัวเอง มากที่สุด (ร้อยละ 18.5) และมุ่งส่งเสริมเด็กในเรื่องการมีน้ำใจ มีลำดับรองลงมา (ร้อยละ 17.6)
เมื่อเปรียบเทียบแนวคิดของเรื่อง (theme) ระหว่างหนังสือของไทยกับหนังสือแปล พบว่า แก่นเรื่องของหนังสือแปลส่วนใหญ่มุ่งส่งเสริมให้เด็กมีความเชื่อมั่นในตัวเอง/รู้จักตัวเอง ขณะที่หนังสือของไทยมีแก่นเรื่องส่งเสริมเรื่องความมีน้ำใจมากที่สุด
จากแนวคิดของเรื่อง (theme) นำไปเทียบกับคุณธรรมพื้นฐาน 8 ประการตามแนวทางของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งได้แก่ ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย สุภาพ สะอาด สามัคคี มีน้ำใจ พบว่า แนวคิดของเรื่องที่ส่งเสริมในเรื่องความซื่อสัตย์ ไม่ปรากฏในหนังสือคัดสรรทั้งหนังสือของไทยและหนังสือแปล
ในส่วนของตัวละคร มีทั้งเรื่องที่ใช้ตัวละครเป็นคนทั้งหมด สัตว์ทั้งหมด และทั้งคนทั้งสัตว์ในเรื่องเดียวกัน กรณีที่ใช้สัตว์เป็นตัวละคร ส่วนใหญ่ใช้ในลักษณะภาพแทน (representation) คือมีพฤติกรรมและการกระทำแบบเดียวกับมนุษย์ หนังสือที่มีทั้งคนและสัตว์ในเรื่องเดียว ผู้เขียนจะให้คนตัวเอกของเรื่อง
ส่วนเพศของตัวละครหลัก (main character) ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย (ร้อยละ 38.0) แต่มีข้อแตกต่าง คือ กรณีที่ใช้คนเป็นตัวละครทั้งหมดในเรื่อง ส่วนใหญ่ตัวเอกเป็นเด็กหญิงและเป็นเหตุการณ์/เรื่องราวระหว่างแม่-ลูก ส่วนหนังสือที่ใช้สัตว์เป็นตัวละครทั้งหมดหรือสัตว์กับคน ส่วนใหญ่ตัวเอกจะเป็นเพศชาย
ประเภทของสัตว์ที่เป็นตัวเอกมากที่สุดคือ หมี และ กระต่าย
ลักษณะของตัวละคร หนังสือภาพของไทยส่วนใหญ่นำเสนอแบบมิติเดียว (flat character) เช่น เป็นคนดีตั้งแต่ต้นจนจบ ส่วนหนังสือแปลส่วนใหญ่นำเสนอแบบหลายมิติ (round character) มากกว่า
รูปแบบการประพันธ์ ส่วนใหญ่เป็นร้อยแก้ว (ร้อยละ 64.8) ในลักษณะบุคคลที่สามเป็นผู้เล่าเรื่อง (third person omniscient narrator) (ร้อยละ 88.9) และส่วนหนึ่งมีบทสนทนาโต้ตอบระหว่างตัวละคร ส่วนหนังสือที่นำเสนอแต่ภาพโดยไม่มีตัวอักษรบนภาพเลยมี 2 เรื่อง
รูปเล่ม ส่วนใหญ่เป็นหนังสือปกอ่อน ขนาดสี่เหลี่ยมจัตุรัส จำนวน 24 หน้า ส่วนหนึ่งนำเสนอแบบหนังสือสองภาษา (ไทย-อังกฤษ) หนังสือบางเล่มมีการนำเทคนิคของการ์ตูนมาใช้ เช่น ใช้ลายเส้นแสดงการเคลื่อนไหว มีบอลลูน และใช้ตัวอักษรเพิ่มระดับความดังเสียง และบางเล่มมีการจัดรูปเล่มแบบพิเศษเพื่อดึงดูดความสนใจ
ส่วนราคาเฉลี่ย ตกเล่มละ 133 บาท (ราคาเฉลี่ย ปกอ่อน 81 บาท และปกแข็ง 168 บาท)

หนังสือภาพที่เปิด “หน้าต่างแห่งโอกาส” ในการพัฒนาเด็กปฐมวัย ของแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน เป็นตัวอย่างของ “หนังสือดี” ที่ผ่านการคัดสรรแล้วว่า ให้ความสุขและความสนุก พร้อมๆ ไปกับการปลูกฝังมิติในการพัฒนาเด็กอย่างเหมาะสมตามพัฒนาการของสมอง
อย่างไรก็ตาม มีข้อคิดเห็นบางประเด็นที่ควรพิจารณา
• ในหนังสือภาพสำหรับเด็ก มีประเด็น “หน้าต่างแห่งโอกาส” ในการพัฒนาเด็กปฐมวัยบางประเด็นที่ยังมีน้อย ได้แก่ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ (critical thinking) ทักษะการแก้ปัญหา (problem solving skill) การคิดถึงสังคมส่วนรวม (social concern) การส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ (creative development) และ การมีวินัย (self discipline) ในการส่งเสริมการผลิต เห็นควรพิจารณาเพิ่มเติมประเด็นดังกล่าวนี้เป็นพิเศษ
• ค่านิยมพื้นฐานที่ส่งเสริมในเรื่อง “ความซื่อสัตย์” ไม่มีปรากฏในหนังสือที่ได้รับการคัดสรร เป็นประเด็นที่ควรจะหยิบยกขึ้นมาในเวทีการพัฒนาเด็กทุกรูปแบบ รวมทั้งในการผลิตหนังสือสำหรับเด็กปฐมวัย (ประเด็นนี้เป็นประเด็นหนึ่งของ “หน้าต่างแห่งโอกาส” ในเรื่องการรู้จักถูก-ผิด ซึ่งควรปลูกฝังตั้งแต่ 3-5 ปี) พร้อมๆ ไปกับการสร้างองค์ความรู้ว่าด้วยศิลปะวิธีในการสื่อสารเพื่อปลูกฝังคุณงามความดีในเรื่องนี้อย่างน้อยที่สุดก็จะทำให้การจับมือกันของภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ในการประกาศเจตนารมณ์ต้านทุจริตพิชิตคอร์รัปชั่น ในการเปิดการประชุมนานาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ครั้งที่ 14 ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงเทพมหานครเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมานี้ ไม่เป็นไปในลักษณะ “ปากว่าตาขยิบ” และในเมื่อนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “เพราะการปราบปรามคอร์รัปชั่นนั้นเป็นงานที่หนักและบุคคลหนึ่งบุคคลใดไม่สามารถที่จะอ้างความสำเร็จได้โดยลำพัง สังคมจะต้องร่วมมือกันให้มากยิ่งขึ้น โดยจะต้องย้ำให้เห็นถึงสาระสำคัญว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นนั้นไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม และช่วยขับเคลื่อน 'วัฒนธรรมของการไม่อดทนต่อการทุจริต'” ก็จึงหวังว่าความซื่อสัตย์สุจริตจะเป็นวัฒนธรรมของสังคมไทยได้ สิ่งหนึ่งที่จะเป็นมรรควิถีคือหนังสือที่มีคุณภาพว่าด้วยการสร้างเสริมการเรียนรู้เรื่องความซื่อสัตย์ ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่ปฐมวัยกันเลยทีเดียว

ภาคขยาย - หนังสือภาพสำหรับเด็กกับบริบทของสังคมไทย
แนวคิดเชิงทฤษฎีและผลการวิจัยด้านพัฒนาการเด็กได้แสดงว่า ปัจจัยแวดล้อมและการเลี้ยงดูที่เหมาะสมสามารถเปลี่ยนลักษณะการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมองมนุษย์ได้ และช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาสมองคือช่วง 0-6 ปี
ช่วงปฐมวัยเป็นช่วงที่สมองของเด็กมีการพัฒนาสูงสุด โดยเฉพาะในช่วง 3-4 ปีแรกของชีวิต การเลี้ยงดูในบ้านจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดต่อพัฒนาการของเด็ก ดังนั้น กิจกรรมระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก หนังสือสำหรับเด็ก และสภาพการเลี้ยงดูในบ้านจึงเป็นปัจจัยแวดล้อมที่สำคัญ

“การสำรวจเด็กและเยาวชน พ.ศ.2551” โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ[†] สรุปว่า ทั่วประเทศมีเด็กเล็ก 0-5 ปี จำนวน 5.5 ล้านคน (ชาย 2.8 ล้านคน หญิง 2.7 ล้านคน) และการสำรวจครั้งนี้ได้มีการสำรวจการมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของสมาชิกในบ้านกับเด็กอายุ 0-5 ปี พบว่า “แม่” เป็นผู้มีส่วนร่วมในกิจกรรมทุกประเภทกับเด็กในสัดส่วนสูงสุด รองลงมาคือคนอื่นๆ ในครัวเรือน ส่วน “พ่อ” มีสัดส่วนต่ำสุดในทุกกิจกรรม
เมื่อพิจารณาเป็นรายกิจกรรม พบว่า กิจกรรมที่บุคคลในบ้านมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมกับเด็กมากที่สุดคือการเล่นร่วมกัน รองลงมาคือการพาเด็กไปนอกบ้าน ส่วนกิจกรรมที่ทำกับเด็กน้อยที่สุดคือการเล่านิทาน/เล่าเรื่องต่างๆ ให้เด็กฟัง

ส่วนการอ่านหนังสือให้เด็กฟังหรือดูหนังสือภาพร่วมกับเด็ก ก็มีสัดส่วนค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับกิจกรรมอื่น และประมาณ 1 ใน 4 ของเด็กเล็ก ไม่มีผู้ร่วมในกิจกรรมนี้ (ร้อยละ 26.2)
การสำรวจครั้งเดียวกันนี้ มีการสำรวจจำนวนหนังสือสำหรับเด็กที่มีอยู่ในบ้าน ซึ่งกำหนดให้มีอย่างน้อย 3 เล่ม (หนึ่งในตัวชี้วัดด้านพัฒนาการของเด็กที่องค์การยูนิเซฟพัฒนาขึ้น) พบว่า เด็กเล็ก (0-5 ปี) อาศัยอยู่ในบ้านที่มีหนังสือสำหรับเด็กเพียงร้อยละ 40.7

ผลสำรวจเรื่อง “การอ่านหนังสือของคนไทย” ในปี 2551[‡] พบว่า เด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปีทั่วประเทศมีประมาณ 5.9 ล้านคน (ชาย 3.0 ล้านคน หญิง 2.9 ล้านคน) มีผู้ที่อ่านหนังสือเองหรือผู้ใหญ่อ่านหนังสือให้ฟัง (นอกเวลาเรียน) ประมาณ 2.1 ล้านคน หรือร้อยละ 36.0 ของจำนวนเด็กเล็กทั้งหมด
ในกลุ่มเด็กเล็กที่อ่านหนังสือหรือมีผู้ใหญ่อ่านให้ฟัง**นี้ อ่านสัปดาห์ละ 2-3 วัน มากที่สุด (ร้อยละ 39.6) และใช้เวลาในการอ่านเฉลี่ย 27 นาทีต่อวัน
ร้อยละ 70.7 ของเด็กเล็กที่อ่านหนังสือ มีผู้ใหญ่ซื้อหนังสือให้อ่านเพิ่มเติมจากตำราเรียนตามหลักสูตร และส่วนใหญ่มีค่าใช้จ่ายในการซื้อหนังสือให้เด็กเล็กเฉลี่ยไม่เกิน 200 บาทต่อเดือน (ร้อยละ 66.1)

จากข้อมูลการสำรวจของสำนักสถิติแห่งชาติ อาจสรุปได้ว่า ในสังคมไทย การใช้หนังสือเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยยังค่อนข้างน้อย ผู้ใหญ่อ่านหนังสือให้เด็กฟังมีเพียงร้อยละ 36.0 ของครอบครัวที่มีเด็กเล็ก และจำนวนหนังสือสำหรับเด็กที่มีในบ้านตามเกณฑ์ที่กำหนด (3 เล่ม) ก็มีเพียงร้อยละ 40.7
ส่วนใหญ่มักอ้างกันว่า การที่คนไทยอ่านหนังสือกันน้อย เพราะสังคมไทยเป็นสังคมมุขปาฐะ ใช้การสื่อสารด้วย “การพูด” เล่าเรื่องสู่กันฟังมากกว่า “การอ่าน” แต่เมื่อเทียบสัดส่วนระหว่าง การอ่านหนังสือหรือดูสมุดภาพร่วมกับเด็ก กับ การเล่านิทานหรือเล่าเรื่องต่างๆ ให้เด็กฟัง (โดยไม่ใช้หนังสือ) กลับพบว่า การอ่านหนังสือเป็นกิจกรรมที่สมาชิกทุกกลุ่มในบ้านทำร่วมกับเด็กมากกว่าการพูดเล่าเรื่องต่างๆ ให้เด็กฟัง
หลายหน่วยงานร่วมกันรณรงค์ให้คนไทยมีนิสัยรักการอ่าน โดยเฉพาะการเริ่มต้นตั้งแต่ระดับปฐมวัย หนังสือภาพสำหรับเด็กที่คัดสรรโดยแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ส่วนหนึ่งได้สอดแทรกอุดมการณ์นี้ลงในเนื้อหาของหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นข้อความหรือภาพของความเพลิดเพลินจากการอ่านหนังสือ (ร่วมกับพ่อแม่) อย่างไรก็ตาม การรณรงค์ให้ผู้ใหญ่อ่านหนังสือให้เด็กฟังเป็นกิจกรรมที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ใหญ่เห็นความสำคัญในการใช้หนังสือภาพเพื่อพัฒนาคุณภาพของเด็ก
หนังสือภาพสำหรับเด็กเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติการเพื่อเตรียมเด็กเข้าสู่สังคม (socializing agents) และมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวต่างจากสื่ออื่น กิจกรรมการอ่านกับตัวหนังสือที่ถูกอ่านมีความสัมพันธ์ระหว่างกัน กิจกรรมการอ่านสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้อ่าน (พ่อแม่ ผู้เลี้ยงดู) กับเด็ก ส่วนหนังสือที่ถูกอ่านมักมีแก่นเรื่องที่สะท้อนถึงการขัดเกลา (socialize) และเตรียมตัวเด็กเข้าสู่สังคมในอนาคต มีการสอดแทรกกติกา ค่านิยม ตลอดจนความสัมพันธ์กับสมาชิกคนอื่นๆ ในสังคม คุณลักษณะเช่นนี้เป็นสิ่งที่เด็กควรต้องรู้
หนังสือภาพสำหรับเด็กเขียนขึ้นโดยผู้ใหญ่ บนพื้นฐานเจตนาที่จะปลูกฝังคุณลักษณะบางอย่างให้กับเด็ก เพื่อเตรียมความพร้อมให้เด็กเข้าสู่สังคมในอนาคตได้อย่างราบรื่น การนำเสนอเนื้อหาและตัวละครจึงสะท้อนให้เห็นถึงค่านิยม ความคิด ความเชื่อของผู้ใหญ่ ภายใต้บริบทของสังคมนั้นๆ
หนังสือภาพสำหรับเด็กจึงมีนัยยะเป็น “บทเรียน” ในการปลูกฝัง ขัดเกลา (socialize) ให้เด็กรู้จักและเข้าใจสังคมรอบตัว และการอยู่ร่วมกันในสังคมนั้น นั่นเอง

จากการวิเคราะห์เนื้อหาหนังสือภาพที่ได้รับการคัดสรรจากแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สรุป ความเป็น “บทเรียน” ในการเตรียมความพร้อมให้เด็กอย่างกว้างๆ ได้ 2 ลักษณะ คือ ส่วนหนึ่งให้เด็กรู้จักและเข้าใจตนเอง (ส่งเสริมพัฒนาการทางสติปัญญา/อารมณ์/สุขภาพร่างกาย) และอีกส่วนหนึ่ง ให้เด็กรู้จักและเข้าใจสังคมรอบตัว (ส่งเสริมทักษะ/พัฒนาการทางสังคม) ซึ่งทั้งสองส่วนโยงใยสัมพันธ์กัน ภายใต้บริบททางสังคม (ของผู้เขียน)
ลักษณะเด่นของสังคมไทย คือ เป็นสังคมที่มีน้ำใจต่อกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และมีความเอื้ออาทรต่อกันและกัน เนื้อหาของหนังสือที่แต่งโดยคนไทยจึงมีแนวคิด (แก่นเรื่อง) ในเรื่องความมีน้ำใจมากที่สุด สะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมของผู้เขียน (คนไทย) ที่ต้องการปลูกฝังและขัดเกลาเด็กตามค่านิยมของสังคม เมื่อพิจารณาในประเด็น “หน้าต่างแห่งโอกาส” (windows of opportunity) ก็พบว่า หนังสือที่แต่งโดยคนไทยมีประเด็นในเรื่องการสร้างความผูกพันมากกว่าประเด็นอื่นๆ
ความมีน้ำใจและการสร้างความผูกพัน เป็นฐานของสังคมระบบอุปถัมภ์นั่นเอง?!

นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ มุ่งพัฒนาเด็กให้มีคุณธรรมพื้นฐาน 8 ประการ คือ ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย สุภาพ สะอาด สามัคคี และมีน้ำใจ จากการวิเคราะห์เนื้อหาของหนังสือคัดสรร พบว่า ไม่ปรากฏแก่นเรื่อง (theme) ในการส่งเสริมเรื่องความซื่อสัตย์ ทั้งหนังสือของไทยและหนังสือแปล
สอดคล้องกับการวิเคราะห์หนังสือเด็กที่ได้รับรางวัลหนังสือดีเด่นจากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ในช่วง 10 ปี (2543-2552)[§] ก็พบเช่นเดียวกันว่า เนื้อหาของหนังสือรางวัลทั้งของกลุ่มอายุ 3-5 ปี และ 6-11 ปี ไม่มีแก่นเรื่อง/แนวคิดที่มุ่งส่งเสริมในเรื่องความซื่อสัตย์ ประเด็นที่พบมากที่สุดในหนังสือทั้งสองกลุ่ม คือ ความมีน้ำใจ เช่นเดียวกันกับหนังสือคัดสรรของแผนงานฯ
การปลูกฝังให้เด็กรู้จักถูก-ผิด ไม่ควรหยิบฉวยของผู้อื่นมาเป็นของตน ไม่พูดโกหก เป็นประเด็นหนึ่งใน “หน้าต่างแห่งโอกาส” ที่ควรปลูกฝังตั้งแต่ในช่วง 3-5 ปี และประเด็นนี้ก็คือพื้นฐานในเรื่องความซื่อสัตย์ ซึ่งควรส่งเสริมไปพร้อมๆ กับการปลูกฝังคุณธรรมด้านอื่นๆ

ลักษณะของตัวละครร่วมที่ปรากฏในหนังสือเด็ก ในส่วนที่เป็นสมาชิกของครอบครัว ส่วนมากปรากฏตัวละคร “แม่” มากกว่า “พ่อ” และภาพของแม่มักปรากฏในลักษณะแม่บ้าน เลี้ยงลูก ทำอาหาร ทำความสะอาดบ้าน ซักผ้ารีดผ้า สวมผ้ากันเปื้อน ส่วนภาพของพ่อคือผู้ออกทำงานนอกบ้าน ลูกต้อง “รอพ่อเลิกงาน หน้าบานวิ่งรี่ อุ้มหนูหน่อยซี ลูกนี้เฝ้าหา” (พ่อจ๊ะ พ่อจ๋า) ส่วนแม่คือผู้ที่อยู่กับลูกตลอดเวลา “แม่อยู่ดูแล แต่เช้าจนสาย ชวนเล่นตอนบ่าย ให้คลายความเหงา” (แม่จ๊ะ แม่จ๋า) สะท้อนบทบาทการเลี้ยงดูลูก ว่าถูกกำหนดให้ต้องเป็นหน้าที่ของเพศหญิง
หนังสือภาพของไทยบางส่วน นำเสนอเพียงตัวละครแม่-ลูกตลอดทั้งเรื่อง ซึ่งอาจตีความได้ว่าหน้าที่ในการดูแลเลี้ยงดูลูกเป็นหน้าที่หลักของแม่ พ่อไม่มีบทบาทหรือมีบทบาทน้อย แต่คงไม่ใช่ว่าลักษณะของครอบครัวเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว (single parent) ซึ่งแม้ว่าจะมีเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน
จากผลสำรวจของคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในปี 2551-2552 (นสพ.ไทยรัฐ 13 กันยายน 2553) ซึ่งสำรวจกลุ่มเด็กอายุ 1-5 ปี และ 6-14 ปี ใน 20 จังหวัด พบว่า ครอบครัวไทย ผู้เลี้ยงดูเด็กเป็นแม่ร้อยละ 63 รองลงมาเป็นปู่ย่าตายาย ร้อยละ 25 ส่วนพ่อมีเพียงร้อยละ 7
แสดงให้เห็นว่า สภาพความเป็นจริงทางสังคมสะท้อนออกมาในหนังสือภาพสำหรับเด็ก

ในการสำรวจครั้งเดียวกันระบุว่า “เด็กไทยเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง โดยพบว่า 1 ใน 3 ของเด็กอายุ 6-14 ปี เคยชกต่อยกันในโรงเรียน เคยถูกขโมยของหรือทำลายข้าวของในโรงเรียน ทำให้เด็กบางส่วนไม่อยากไปโรงเรียนเนื่องจากรู้สึกว่าไม่ปลอดภัย”
จากการวิเคราะห์ประเด็น “หน้าต่างแห่งโอกาส” ในหนังสือคัดสรร มีข้อน่าสังเกตที่พบว่า หนังสือที่แต่งโดยคนไทย ไม่มีการนำเสนอในประเด็น “ไม่ใช้ความรุนแรง” หนังสือของไทยส่งเสริมในเรื่อง “ความสุภาพ” ซึ่งเป็นหนึ่งในคุณธรรมพื้นฐาน 8 ประการตามแนวทางของกระทรวงศึกษาธิการ แต่เป็นลักษณะความสุภาพด้วยการใช้คำพูด (เช่น พูดมีหางเสียงครับ/ค่ะ หรือทักทายด้วยการยกมือไหว้สวัสดีกับผู้ใหญ่ เป็นต้น) อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมที่ไม่ใช้ความรุนแรง พบในกลุ่มของหนังสือแปล
หากมองในแง่บริบททางวัฒนธรรม สังคมไทยให้ความสำคัญกับลำดับชั้นทางสังคม มีระบบอาวุโสสูง-ต่ำ จึงสะท้อนความสุภาพอ่อนน้อมมีสัมมาคารวะออกมาทางหนังสือภาพ ส่วนสังคมของผู้เขียนหนังสือที่นำมาแปล ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมกันทางสังคม ลักษณะของความสุภาพจึงสื่อออกมาด้วยการไม่ใช้ความรุนแรงหรือไม่ไปทำร้ายผู้อื่น

ในบริบทด้านวัฒนธรรมและวิถีไทย หนังสือภาพของไทยส่วนหนึ่งส่งเสริมให้ภาคภูมิใจกับภูมิปัญญาไทย นำเสนอภาพของการละเล่นแบบไทยๆ ในสมัยก่อน ภาพของขนมไทย วัสดุของใช้ที่เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้าน และภาพชีวิตในท้องทุ่งท้องนา ซึ่งเป็นวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของไทย ส่งเสริมให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ความเป็นไทย
อนึ่ง ข้อสังเกตเกี่ยวกับหนังสือภาพสำหรับเด็กที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตแบบไทยๆ เหล่านี้ ล้วนนำเสนอในรูปของร้อยกรองทั้งสิ้น

หนังสือภาพสำหรับเด็กปฐมวัย จึงสะท้อนภาพของสังคมให้เด็กได้รู้จักและเข้าใจ “โลก” หรือสังคมรอบตัว เมื่อเด็กได้อ่านได้ฟังเรื่องราวจากหนังสือ ย่อมได้รับอิทธิพลต่างๆ จากหนังสือไม่ทางตรงก็ทางอ้อม การได้สัมผัสเรื่องราวจากหนังสือภาพดีๆ จะซึมซาบและฝังแน่นอยู่ในตัวเด็ก ก่อเกิดคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของสังคม ประโยชน์ที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลต่อสังคมในภาพรวม
ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับพ่อแม่ ผู้เลี้ยงดู ชุมชน สังคม ภาครัฐ ว่าจะสร้าง “โอกาส” ให้เด็กได้รับเรื่องราวเหล่านั้นมากน้อยเพียงใด
ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับนักเขียนเรื่อง เขียนรูป บรรณาธิการ สำนักพิมพ์ ว่าจะสร้าง “โอกาส” ให้เด็กได้รับเรื่องราวอย่างไร ด้วยเหตุผลใด
ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับภาครัฐที่จะสร้าง “โอกาส” ให้เด็กด้วยนโยบายและปฏิบัติการอย่างจริงจังที่จะส่งเสริมให้กระบวนการสร้างหนังสือเป็นแหล่งผลิตภูมิปัญญาของชาติ และมุ่งมั่นส่งเสริมการอ่านให้เป็นวัฒนธรรมของชาติให้จงได้

********************

[*] ประเด็น “หน้าต่างแห่งโอกาส” 1.สร้างความผูกพัน 2.ความไว้วางใจผู้อื่น 3.การรู้จักถูกผิด 4.การรู้จักช่วยเหลือและพึ่งพาตัวเอง 5.ทักษะด้านความปลอดภัย 6.การควบคุมอารมณ์ตัวเอง 7.การมีแรงจูงใจภายใน 8.กระบวนการเรียนรู้แบบสืบค้น 9.ทักษะการติดต่อสื่อสารและสร้างสัมพันธภาพระหว่างบุคคล 10.การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน 11.ส่งเสริมจินตนาการ 12.การใช้ภาษา/การนับจำนวน 13.ประหยัด 14.มีวินัย 15.การคิดอย่างมีวิจารณญาณ 16.ความภูมิใจในคุณค่าของตัวเอง 17.การเห็นคุณค่าความแตกต่าง 18.การคิดถึงสังคมส่วนรวม 19.ทักษะการแก้ปัญหา 20.ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์[†] สำนักงานสถิติแห่งชาติ ทำการสำรวจในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2551 จากครัวเรือนตัวอย่าง 59,000 ครัวเรือน เป็นการสำรวจกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุตั้งแต่ 0-24 ปี โดยแยกรายละเอียดเป็น 4 กลุ่มอายุ คือ 0-5 ปี, 6-11 ปี, 12-17 ปี และ 18-24 ปี และให้นิยามว่า “เด็ก” คือผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปี ส่วน “เยาวชน” คือผู้ที่อายุ 18-24 ปี[‡] การสำรวจการอ่านหนังสือของประชากร พ.ศ.2551 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ทำการสำรวจในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2551 จากครัวเรือนตัวอย่าง 53,040 ครัวเรือน มีการสำรวจเป็น 2 กลุ่ม คือ การอ่านหนังสือของเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปี และการอ่านหนังสือของผู้ที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไป** เด็กเล็กที่อ่านหนังสือเกือบทั้งหมด (ร้อยละ 98.9) มีผู้ปกครองอ่านหนังสือให้ฟัง และมีร้อยละ 1.1 ที่เด็กอ่านด้วยตัวเองโดยไม่มีผู้ปกครองอ่านหนังสือให้ฟัง[§] บทวิเคราะห์หนังสือที่ได้รับรางวัลหนังสือดีเด่น ปี 2543-2552 ประเภทหนังสือสำหรับเด็ก 3-5 ปี และ 6-11 ปี ใน “รายงานผลการวิจัย เรื่อง สภาพการณ์หนังสือเด็ก กลุ่มอายุ 0-6 ปี และ 6-12 ปี” แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชน (สสย) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตุลาคม 2552


เอกสารเพื่อการประชุมสัมมนาสาธารณะเรื่อง ปฏิรูปจิตสำนึกเด็กไทยด้วยหนังสือ “เล่มใหม่” วันที่ 5 มกราคม 2554 ณ โรงแรมรอยัลริเวอร์ โดยแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ดำเนินการวิจัยและเรียบเรียงโดย
อาจารย์พิรุณ อนวัชศิริวงศ์ ศูนย์พัฒนานวัตกรรมการอ่าน
รศ. ถิรนันท์ อนวัชศิริวงศ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยการสนับสนุนของ แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

วันอังคารที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2553

เสกสื่อเสกฝันเพื่อวันพรุ่ง เปิดหน้าต่างละครสร้างสรรค์เพื่อเด็ก


ประกาศรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ!!!

โครงการ“เสกสื่อเสกฝันเพื่อวันพรุ่ง :
เปิดหน้าต่างละครสร้างสรรค์เพื่อเด็ก”


มาร่วมกันสร้างฝัน สร้างสรรค์ละครดีดีเพื่อเด็กไทย

เพียงชวนเพื่อนนักศึกษากลุ่มละ 5 คน ที่มีใจรักและสามารถด้านการละคร
สมัครเข้าอบรมวันที่ 8-9 มกราคม 2554 เพื่อสร้างผลงานกลุ่มละหนึ่งเรื่อง
ลุ้นรางวัลผลงานคุณภาพ ‘เสกสื่อเสกฝันอะวอร์ด’

สนใจขอรับใบสมัครได้ที่โครงการเสกสื่อเสกฝันเพื่อวันพรุ่ง
สาขาวิชาสื่อสารการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ
โทรศัพท์ : 083-556-4633 (อ.ลักษณ์นัยน์)

e-mail : dreamcom-cometrue@hotmail.com

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.dreamcom-cometrue.blogspot.com

วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

การอ่านหนังสือของคนไทย

การอ่านหนังสือของคนไทย

“หนังสือ” มีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานทางความคิดและเสริมสร้างทักษะในการเรียนรู้ การอ่านหนังสือเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง หากคนในสังคมมีพฤติกรรมการอ่านก็จะก่อให้เกิดการเรียนรู้ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งที่เชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาประเทศ

หลายองค์กรได้ช่วยกันรณรงค์เพื่อผลักดันให้สังคมไทยตระหนักถึงความสำคัญของการอ่านหนังสือ แต่จากข้อมูลสถิติเรื่องการอ่านหนังสือของคนไทยที่สำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติครั้งล่าสุด (2551) พบว่า อัตราการอ่านหนังสือของคนไทยลดลง

ผลการสำรวจเรื่องการอ่านหนังสือของคนไทยโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติแต่ละครั้ง มักก่อกระแสวิพากษ์ในสังคม จากการรวบรวมข้อมูลเอกสารจากแหล่งต่างๆ พบว่า มีผู้กล่าวว่าคนไทยอ่านหนังสือ 7 บรรทัดต่อวันบ้าง 7 บรรทัดต่อปีบ้าง และบางแห่งระบุ 5 เล่มต่อปี (หรือ 2 เล่มต่อปี) ซึ่งส่วนหนึ่งจะอ้างอิงข้อมูลว่ามาจากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ

สำนักงานสถิติแห่งชาติได้สำรวจเรื่องการอ่านหนังสือของคนไทยที่เป็นการสำรวจเรื่องนี้โดยตรงมาแล้ว 3 ครั้ง คือในปี 2546, 2548 และ 2551 อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านั้นได้มีบทความรายงานเรื่อง “การอ่านหนังสือของคนไทย” ตีพิมพ์ใน “สารสถิติ” ฉบับเดือนมิถุนายน 2546 ระบุว่าคนไทยใช้เวลาในการอ่านหนังสือประมาณ 3 นาทีต่อวัน และเด็กวัย 10-14 ปี อ่านน้อยที่สุด คือ 1.28 นาทีต่อวัน

บทความดังกล่าวเป็นการนำข้อมูลมาจากปี 2544 ที่สำรวจเรื่อง “การใช้เวลาของประชากร” (สำรวจเฉพาะผู้ที่มีอายุ 10 ปีขึ้นไป) ซึ่งมีประเด็นหนึ่งที่สอบถามถึงการใช้เวลาในการอ่านหนังสือ การสำรวจนี้พบว่ามีผู้ที่อ่านหนังสือร้อยละ 4.4 ของประชากร และในจำนวนผู้ที่อ่านหนังสือนี้ อ่านหนังสือเฉลี่ย 67.49 นาทีต่อวัน แต่สำนักงานสถิติแห่งชาติได้นำเอาเวลาเฉลี่ยในการอ่านหนังสือของผู้ที่อ่านไปหาค่าเฉลี่ยจากฐานประชากรทั้งหมด (นำจำนวนผู้ที่ไม่อ่านมาหาค่าเฉลี่ยด้วย) จึงสรุปว่าคนไทยใช้เวลาในการอ่านหนังสือ 2.99 นาทีต่อวัน

การสำรวจเรื่องการอ่านหนังสือของคนไทยในปี 2546 สำนักงานสถิติแห่งชาติไม่ได้ระบุเรื่องเวลาในการอ่าน และเป็นการสำรวจประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปี ขึ้นไป ส่วนการสำรวจอีก 2 ครั้ง คือในปี 2548 และ 2551 ระบุเรื่องเวลาในการอ่านโดยคิดค่าเฉลี่ยเฉพาะกลุ่มผู้ที่อ่านหนังสือ ผลสำรวจในปี 2551 ระบุว่า ผู้ที่อ่านหนังสือ (ที่อายุ 6 ปี ขึ้นไป) ใช้เวลาในการอ่านหนังสือเฉลี่ย 39 นาทีต่อวัน

ส่วนผลสำรวจในปี 2548 เป็นการคิดเวลาเฉลี่ยจากฐานของกลุ่มผู้ที่อ่านหนังสือเช่นกัน แต่มีข้อมูลตัวเลขเวลาเฉลี่ยในการอ่านหนังสือของคนไทยที่ต่างกันอยู่ 2 ชุด ชุดแรกจากรายงานผลเบื้องต้นและเป็นข้อมูลที่สำนักงานสถิติแห่งชาติใช้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน (สิงหาคม 2548) ระบุว่าคนไทยใช้เวลาในการอ่านหนังสือโดยเฉลี่ยแต่ละวันประมาณ 1 ชั่วโมง 59 นาที ส่วนอีกชุดหนึ่งซึ่งเป็นรายงานฉบับสมบูรณ์ที่ออกตามมาภายหลัง ระบุว่า คนไทยใช้เวลาในการอ่านหนังสือโดยเฉลี่ยแต่ละวันประมาณ 51 นาที ซึ่งเป็นเวลาที่ต่างกันมากกว่า 1 ชั่วโมง

ไม่ปรากฏว่ามีข้อมูลชี้แจงเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงตัวเลขจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ผู้ที่นำข้อมูลไปใช้จะอ้างอิงที่ตัวเลข 1 ชั่วโมง 59 นาที ทั้งสิ้น การเสนอชื่อกรุงเทพมหานครเป็น “เมืองหนังสือโลก” (World Book Capital City) ที่เสนอต่อองค์การยูเนสโกก็อ้างอิงข้อมูลจากตัวเลขดังกล่าว (1 ชั่วโมง 59 นาที)

จากการศึกษาข้อมูลจากเอกสารที่ออกโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการอ่านหนังสือของคนไทย ไม่พบว่ามีการระบุว่าคนไทยอ่านหนังสือกี่เล่มหรือกี่บรรทัด ระบุเพียงเรื่องเวลาในการอ่านเท่านั้น จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสถิติแห่งชาติก็ได้รับการยืนยันว่าสำนักงานสถิติแห่งชาติไม่ได้สำรวจว่าคนไทยอ่านหนังสือกันกี่เล่มหรือกี่บรรทัด

การระบุว่าคนไทยอ่านหนังสือกันกี่บรรทัดต่อวันหรือกี่เล่มต่อปี อาจเป็นผลมาจากการตีความเองของผู้นำข้อมูลไปใช้หรือนำไปเผยแพร่ต่อ หรืออาจมาจากการสำรวจของหน่วยงานอื่นที่มิใช่สำนักงานสถิติแห่งชาติ จากการรวบรวมข้อมูลพบว่าหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการมีการสำรวจพฤติกรรมการอ่านของนักเรียนซึ่งระบุหน่วยชี้วัดเป็นจำนวนหน้าและจำนวนเล่ม ประกอบกับการที่ปลัดกระทรวงศึกษาธิการระบุว่า “จะรณรงค์ให้คนไทยอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 12 บรรทัดให้ได้ภายในปี 2550” (งานมหกรรมนักอ่าน 13-17 มิถุนายน 2550) จึงเชื่อว่ากระทรวงศึกษาธิการเองน่าจะมีข้อมูลการสำรวจเรื่องการอ่านอีกชุดหนึ่ง และผู้ที่นำข้อมูลไปใช้อาจกล่าวถึงข้อมูลจากทั้งสองแหล่งในเวลาเดียวกัน จึงรวบความว่าเป็นผลจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ

การระบุว่าคนไทยอ่านหนังสือกี่เล่มต่อปี มีการระบุอยู่ 2 ตัวเลข คือ 5 เล่มต่อปี และ 2 เล่มต่อปี การระบุที่จำนวน 5 เล่มต่อปี น่าจะมาจากเหตุผลที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ซึ่งยืนยันได้ว่ามิใช่เป็นข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ จากคำกล่าวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในการเปิดงานมหกรรมนวัตกรรมการอ่าน (14-16 สิงหาคม 2552) ระบุว่า “การสำรวจเรื่องนิสัยรักการอ่านของคนไทยในปี 2551 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า คนไทยอายุ 6 ปีขึ้นไปอ่านหนังสือเฉลี่ยที่ 39 นาทีต่อวัน ขณะที่ผลสำรวจจากหน่วยงานอื่นๆ พบว่า คนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยคนละ 5 เล่มต่อปีเท่านั้น” อย่างไรก็ตาม ก็มิได้มีการระบุว่าเป็นการศึกษาของหน่วยงานใด

ส่วนตัวเลขการอ่านหนังสือจำนวน 2 เล่มต่อปี เป็นผลมาจากการวิเคราะห์การใช้จ่ายเงินในการซื้อหนังสือของคนไทย โดยสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ซึ่งในปีล่าสุด (4 มีนาคม 2552) ระบุว่า “คาดว่าคนไทยใช้เวลาว่างอ่านหนังสือปีละ 2 เล่ม และใช้เงินซื้อหนังสือต่อคนต่อปีประมาณ 300 บาท” ซึ่งระบุที่จำนวนตัวเลข 2 เล่มติดต่อกันมา 3 ปีแล้ว

ฐานในการคำนวณว่าคนไทยซื้อหนังสือ 2 เล่มต่อปี มาจากการใช้มูลค่ายอดจำหน่ายหนังสือในปีนั้น (18,900 ล้านบาทในปี 2551) มาหาค่าเฉลี่ยเป็นจำนวนเล่มโดยใช้ราคาเฉลี่ยหนังสือออกใหม่ที่เข้าสู่ระบบจัดจำหน่ายของร้านซีเอ็ดฯ (166.20 บาทต่อปก) จะได้จำนวนเล่มของหนังสือที่ขายได้ต่อปี (113,718,412 เล่ม) จากนั้นนำจำนวนเล่มที่ขายได้ทั้งหมดมาหาค่าเฉลี่ยต่อประชากร 1 คน (ปี 2551 มีประชากร 63,389,730 คน) จะได้จำนวนหนังสือที่ซื้อต่อปีต่อคน (1.79 เล่มต่อปีต่อคน)
นำจำนวนเล่มที่ซื้อต่อคนต่อปี (1.79 เล่ม) ไปคำนวณเป็นจำนวนเงินโดยย้อนกลับไปที่ราคาเฉลี่ยต่อเล่ม (166.20 บาท) ก็จะได้อัตราการใช้จ่ายในการซื้อหนังสือของคนไทยต่อคนต่อปี (297.50 บาท) เมื่อสรุปผลก็จะได้อัตราการใช้จ่ายเงินในการซื้อหนังสือประมาณ 300 บาทต่อคนต่อปี หรือจำนวน 2 เล่มต่อคนต่อปี


โดย พิรุณ อนวัชศิริวงศ์ : ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมการอ่าน (บางส่วนจากเอกสารประกอบการนำเสนอ “นโยบายส่งเสริมการอ่านภาคประชาชนระดับท้องถิ่น : หนังสือสามัญประจำบ้าน” งานมหกรรมสื่อสร้างสรรค์เพื่อเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 1 “พลังภาคี หนุนกองทุนสื่อดี เพิ่มพื้นที่สื่อสร้างสรรค์” 14 พฤศจิกายน 2552)

วันเสาร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เด็กเล็กกับหนังสือภาพ

เด็กเล็กกับหนังสือภาพ

เด็กเล็กเรียนรู้สิ่งต่างๆ จากหนังสือภาพที่เป็นสีได้มากกว่าหนังสือภาพขาวดำ

การอ่านหนังสือภาพ (picture book) ให้เด็กน้อยฟังและให้ดูภาพไปด้วย ไม่เพียงแต่ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการด้านการอ่านของเด็กเท่านั้น แต่ยังเป็นการสอนให้เด็กได้รู้จักโลกรอบตัวของพวกเขาด้วย งานวิจัยด้านจิตวิทยาพัฒนาการที่ตีพิมพ์ในวารสารของสมาคมจิตวิทยาของสหรัฐ ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2006 ชี้ให้เห็นว่าการที่เด็กเล็กได้สัมผัสกับภาพสีที่คล้ายของจริงช่วยในการเรียนรู้ของเด็กได้

ดร. Gabrielle Simcock นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยควีนแลนด์ และ ดร. Judy DeLoache นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย ได้ทดสอบว่า เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ปี สามารถเลียนแบบการเล่าเรื่องอย่างง่ายๆ จากภาพวาดที่คล้ายของจริงจากหนังสือภาพได้หรือไม่

การศึกษามี 2 ครั้ง โดยมีเด็กเข้าร่วมในโครงการทั้งหมด 132 ราย แบ่งเป็น 3 กลุ่มอายุ คือ 18 เดือน, 24 เดือน และ 30 เดือน เพื่อหาข้อสรุปว่า อายุมีผลต่อความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กที่จะเล่าเรื่องอย่างง่ายๆ จากการอ่านหนังสือภาพอย่างไร

ในการศึกษาครั้งที่ 1 ได้แบ่งเด็กออกเป็น 2 กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีทั้ง 3 กลุ่มอายุ ทั้งสองกลุ่มได้รับหนังสือภาพต่างชุดกัน แต่มีเรื่องราวและองค์ประกอบในภาพเหมือนกัน กลุ่มแรกได้หนังสือภาพที่เป็นภาพถ่ายสี 6 ภาพ และอีกกลุ่มหนึ่งได้หนังสือภาพที่เป็นภาพวาดสี วาดเลียนแบบภาพถ่ายทั้ง 6 ภาพ
หลังจากอ่านหนังสือให้เด็กฟังแล้ว ก็ขอให้เด็กๆ เลือกภาพใดภาพหนึ่งจากหนังสือขึ้นมาเล่า ผลการทดสอบพบว่า เด็กส่วนใหญ่สามารถพูดเล่าเรื่องเลียนแบบตามที่หนังสือบรรยายไว้ได้

ผู้วิจัยกล่าวว่า “การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า เด็กสามารถเรียนรู้ที่จะเล่าเรื่องเลียนแบบตามหนังสือที่มีขนาดสั้นๆ ได้ ซึ่งเป็นรูปแบบของการปฏิสัมพันธ์โดยทั่วไป และสามารถใช้หนังสือภาพเป็นแหล่งป้อนข้อมูลที่เกี่ยวกับโลกรอบๆ ตัวของเด็กๆ ได้”

ภาพที่ถ่ายจากวัตถุจริงกับภาพวาดคล้ายของจริงจากหนังสือเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลจูงใจเด็กให้สนใจได้มาก แต่เด็กอายุ18 เดือน จะมีปัญหาในการทำตามคำสั่งที่ผู้วิจัยต้องการ รวมทั้งไม่สามารถหาความแตกต่างระหว่างหนังสือภาพทั้งสองแบบได้ ดังนั้น ผู้วิจัยจึงเลือกกลุ่มใหม่ขึ้นมาอีกกลุ่มหนึ่ง โดยมีเฉพาะเด็กอายุ 24 เดือน และ 30 เดือน เพื่อทำการทดลองในครั้งที่ 2 ซึ่งเปลี่ยนมาศึกษาถึงการสนองตอบต่อหนังสือภาพขาวดำ (องค์ประกอบของภาพเหมือนการทดลองครั้งที่ 1 ทั้ง 6 ภาพ นอกจากเรื่องสี)

การทดสอบครั้งที่ 2 แสดงให้เห็นว่าเด็กเล่าเรื่องจากภาพขาวดำได้ค่อนข้างด้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับเด็กกลุ่มแรกที่เล่าเรื่องจากหนังสือที่เป็นภาพถ่ายและภาพสี

ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า ความสมบูรณ์ขององค์ประกอบของภาพที่เป็นสีมีส่วนช่วยในการพัฒนาการสำหรับเด็กอายุประมาณ 2 ปี ได้มากกว่าภาพขาวดำ “ภาพเสมือนจริงมีส่วนช่วยในการพัฒนาเด็กมากกว่าภาพที่มีลักษณะเป็นตัวแทนสัญลักษณ์” ผู้วิจัยกล่าวทิ้งท้าย

(จาก ScienceDaily : Nov. 6, 2006 แปลและเรียบเรียงโดย พิรุณ อนวัชศิริวงศ์ : ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมการอ่าน)


**********

วันพุธที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ลองนึกภาพฉากนี้ดู

ลองนึกภาพฉากนี้ดู

กลุ่มนักเรียนชั้นประถมตอนปลายกลุ่มหนึ่งกำลังเรียนเกี่ยวกับเทพนิยายและนิทานพื้นบ้าน พวกเขารวมตัวกันเพื่อที่จะอ่านเรื่องที่ดัดแปลงมาจากนิทานเก่าๆ เรื่อง “หม้อวิเศษ เด้งดึ๋งได้” เด็กๆ ฝึกซ้อมกันเป็นกลุ่มเล็กๆ และตอนนี้ก็พร้อมที่จะอ่านให้กับเพื่อนๆ ที่เหลือในชั้นเรียนฟังแล้ว
บ้างก็นั่ง บ้างก็ยืนอยู่หน้าชั้นเรียน โดยทั้งหมดหันหน้ามาทางผู้ชม ผู้บรรยายยืนอยู่หลังที่วางโน้ตดนตรีและเปิดแฟ้มสีที่วางอยู่บนนั้น แล้วก็เริ่มอ่าน
“กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เมื่อพวกหมูสามารถผิวปากและหม้อสามารถพูดได้ มีสามีภรรยาที่ยากจนอยู่คู่หนึ่งอาศัยอยู่ในบ้านอันทรุดโทรม ทั้งคู่เป็นเจ้าของหมูที่ผอมโซอยู่ตัวหนึ่ง”
สามีพูดกับคนดูด้วยท่าทางที่หิวโหยและสั่นเทา “ผมคือสามี” เขาพูด “และฉันเป็นภรรยา ภรรยาส่งเสียงตะโกนมา “อู๊ด!” ตามด้วยเสียงของหมู แล้วเรื่องก็ดำเนินต่อ
ชายผู้หิวโหยกับภรรยาตัดสินใจจะขายหมูที่ผอมโซของพวกเขา จึงได้นำไปขายที่ตลาด “ไม่มีใครซื้อหมูที่ผอมโซอย่างนี้หรอก” เขาคร่ำครวญ แต่แล้วในที่สุดหมูก็ถูกขายให้กับคนแคระคนหนึ่งด้วยการแลกกับหม้อต้มซุปสีดำเก่าๆ ใบหนึ่ง คนแคระหวังว่าหมูตัวใหม่ของเขาจะเรียนรู้ที่จะผิวปากเพลง “ดวงดาววาววับจรัสแสง” ได้
ขณะที่การอ่านดำเนินต่อไป ผู้อ่านอ่านบทบรรยายหรือบทของตัวละครของพวกเขาได้อย่างคล่องแคล่ว พวกเขาอ่านด้วยความกระตือรือร้นจากบทที่อยู่เบื้องหน้าของพวกเขา
กลับไปที่บ้านนั้นอีกครั้ง ภรรยาเตรียมที่จะต้มมันฝรั่งที่เหลืออยู่ชิ้นสุดท้ายของพวกเขาในหม้อสีดำเก่าๆ ใบนั้น แต่ทันทีที่เธอวางหม้อบนเตาไฟ หม้อก็เริ่มส่งเสียงแปลกๆ เสียงนั้นยิ่งดังขึ้นๆ จนกระทั่งหม้อนั้นร้องตะโกนเสียงดังออกมา
“ข้าเป็นหม้อวิเศษเด้งดึ๋งได้
นี่เห็นข้าเป็นอะไร
ข้าต้องกระโดดฉับไว
ปล่อยข้าไป!”
ผู้อ่านทั้งหมดร่วมกันตะโกนด้วยเสียงอันดัง ปล่อยข้าไป! ปล่อยข้าไป! ปล่อยข้าไป! ถ้อยคำปล่อยข้าไปถูกพูดซ้ำแล้วซ้ำอีกตลอดทั้งเรื่อง ทั้งผู้อ่านและผู้ฟังเข้าร่วมกันในโอกาสนี้
เรื่องยังดำเนินต่อไป แล้วหม้อวิเศษเด้งดึ๋งได้ก็กระโดดเข้าไปในถ้ำของสัตว์ประหลาด กระเด้งเข้าไปในยุ้งข้าวของเจ้ายักษ์ และกระดอนเข้าไปในกระท่อมของแม่มด จากนั้นก็นำรางวัลมาให้แก่เจ้าของของมันด้วยหม้อที่จุไปด้วยขนม หม้ออีกใบเต็มไปด้วยเมล็ดข้าว และอีกใบหนึ่งก็เต็มไปด้วยเงินทอง แต่สัตว์ประหลาด เจ้ายักษ์ และแม่มดก็ยังคงไล่ล่าหม้อใบนี้ แล้วในที่สุดหม้อสีดำก็ “กระโดด กระเด้ง กระดอน” เข้าไปในหม้อใบใหญ่ที่ใช้สำหรับต้มซุปของแม่มด แม่มดกรีดร้อง
“เจ้าหม้อซุ่มซ่าม! ถึงเจ้าจะกระโดด กระเด้ง กระดอนไปได้ไกลถึงอลาสก้าพวกข้าก็ไม่สน! แค่หลบไปไกลๆ ให้พวกข้าได้ตักซุปนี้กินก็พอแล้ว!”
แต่แน่นอนว่าหม้อใบนี้ก็ยังคงกระโดดกระเด้งต่อไป มันกระโดดผ่านไปที่บ้านคนแคระ ที่ที่หมูกำลังผิวปากเพลง “ดวงดาววาววับจรัสแสง” อยู่ข้างถนน และจากนั้นมาก็ไม่มีใครเห็นหม้อวิเศษเด้งดึ๋งได้นั้นอีกเลย ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องน่าประหลาดใจ พวกนักอ่านบอกเราว่า เพราะ
“อลาสก้านั้นอยู่แสนไกล
แม้จะเป็นหม้อวิเศษเด้งดึ๋งได้ ก็ไม่สามารถ กระโดด-กระเด้ง-กระดอน กลับมา!”

นักอ่านทุกคนยืนขึ้นและโค้งคำนับ ผู้ชมปรบมือ ทุกคนยิ้ม

***************
จากหนังสือ ละครสร้างนักอ่าน : Readers Theatre